หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่นไทยที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นก็คือ “บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด” ผู้สร้างตำนานให้ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย “ก้านกล้วย” ได้เป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก เนื่องจากได้มีโอกาสไปฉายโชว์ในตลาดซื้อขายหนังของเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสถึง 2 รอบ
ไม่เท่านั้น ก้านกล้วย ยังเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นไทยที่ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมาจากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสเปน ฝรั่งเศส และบราซิล เป็นต้น รวมถึงอีกหลากหลายรางวัลจากในประเทศ
และด้วยผลงานที่ก้านกล้วย สามารถกวาดรางวัลมาได้มากมายจากเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ชื่อของบริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น ในฐานะผู้ผลิตงานแอนิเมชั่นกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น
“อัจฉรา กิจกัญจนาสน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด เล่าว่า กันตนา แอนนิเมชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 โดยเริ่มต้นด้วยการร่วมงานกับบริษัท โตเอะ ค่ายแอนิเมชั่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ผลิตผลงานที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกหลายต่อหลายเรื่อง
ต่อมา กันตนา แอนนิเมชั่น ได้หันเหไปทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้กับงานโฆษณา ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ทั้งที่เป็น 3D Animation และ Special Effect จนกระทั่งในปี 2547 กันตนา แอนนิเมชั่น ได้ผลิตผลงานแอนิเมชั่นของตัวเองเรื่องแรก คือ แอนิเมชั่นซีรี่ส์ชุด “ซน 100%” ออกอากาศทางช่อง 7
“ตอนร่วมงานกับบริษัทที่ญี่ปุ่น เป็นลักษณะการรับจ้างผลิตงานให้กับลูกค้าญี่ปุ่น ตรงนั้นก็เป็นการปูพื้นฐานธุรกิจด้านแอนิเมชั่นให้กับกันตนามากขึ้น แต่ก็ต้องหยุดไปพักหนึ่ง เพราะสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการผลิตงานแอนิเมชั่นมีราคาสูงมาก ในขณะที่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่คุ้มกับเครื่องมือที่ลงทุนไป
ต่อมาเมื่อเครื่องมือต่างๆ เริ่มมีราคาถูกลง มีบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น เราก็เลยฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพื่อลุยธุรกิจแอนิเมชั่นอีกครั้ง”
หลังจากมีผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกออกสู่สายตาคนไทย ต่อมาในปี 2549 กันตนา แอนนิเมชั่น ก็ได้นำผลงานภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง ก้านกล้วย ซึ่งใช้ระยะเวลาในการผลิตกว่า 2 ปี ออกฉาย และเรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ช่วยปลุกกระแสให้วงการแอนิเมชั่นไทยตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง
เนื่องจากก้านกล้วย เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่สร้างด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ อีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคดังกล่าว คือ ปังปอนด์ และแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย คือ สุดสาคร ซึ่งเป็นแอนิเมชั่น 2 มิติ
ที่สำคัญ ยังเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ทำเงินสูงสุดในเมืองไทย ด้วยรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว
จากความสำเร็จดังกล่าว กันตนา แอนนิเมชั่น จึงนำก้านกล้วยมาผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นซีรี่ส์ ใช้ชื่อว่า “ก้านกล้วยผจญภัย” ออกอากาศทางช่อง 7
และที่น่ายินดี คือ ภาพยนตร์การ์ตูนก้านกล้วยได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปฉายที่อเมริกา รวมทั้งผลิตเป็นวีซีดี ดีวีดี ฯลฯ อีกด้วย
“การทำการ์ตูนแอนิเมชั่นแม้ค่าผลิตสูง แต่ข้อดี คือ สามารถต่อยอดได้ในเรื่องของคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน สามารถนำไปทำโปรดักส์อื่นๆได้เยอะ
แต่ที่ผ่านมาคนไทยยังซื้อไลเซนส์จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ค่อนข้างที่จะให้การสนับสนุนคาแรคเตอร์การ์ตูนไทยน้อย เนื่องจากไม่มีใครการันตีได้ว่าจะฮิตติดตลาด ฉะนั้นวันแรกที่ก้านกล้วยออกฉายก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร มีผู้ประกอบการไม่กี่รายที่ซื้อไลเซนส์ของเราไปทำโปรดักส์ต่อ
แต่พอหนังฉายแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนดู ก็เริ่มมีผู้ประกอบการมาซื้อไลเซนส์ก้านกล้วยเพิ่มมากขึ้น เช่น มาม่าก้านกล้วย, ไวตามิลล์ก้านกล้วย, เสื้อ Arrow ก้านกล้วย, iPod ก้านกล้วย ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้กลับคืนมาให้กับบริษัท”
อัจฉรา บอกอีกว่า ตอนนี้บริษัทกำลังผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ “ก้านกล้วย 2” ซึ่งเป็นการสานต่อเรื่องราวของก้านกล้วยที่เคยสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมาแล้ว โดยมีกำหนดจะออกฉายในต้นปีหน้า (2552) ควบคู่กับการเตรียมโครงการใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้วงการแอนิเมชั่นของไทยก้าวหน้ามากขึ้น
“เป้าหมายของเรา คือ ต้องการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดในเมืองไทย ส่วนการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นซีรีส์อาจจะพักไว้ก่อน เพราะการทำหนังมันกระแทกใจผู้ชมโดยรวมได้มาก
เราสามารถสร้างกระแสสังคมได้แรงกว่าทีวี ก็เลยเอนไปทำหนังใหญ่มากกว่า ซึ่งหวังว่าการทำหนังใหญ่ของเราอย่างน้อยจะทำให้คนไทยหันมาดูหนังแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยกันมากขึ้น และถ้าไปขายต่างประเทศได้นั่นถือว่าคือกำไร”
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงแอนิเมชั่น อัจฉราชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของธุรกิจแอนิเมชั่นไทยว่า กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ คือ เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีการผลิต และบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเพิ่มมากขึ้น ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการพัฒนาแอนิเมชั่นไทยทั้งตลาดในประเทศและการแข่งขันในตลาดโลก
แต่ที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการ ก็คือ เรื่องของเงินทุน เพราะถ้ามีเงินทุนมาซัพพอร์ตได้เพียงพอ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตผลงานแอนิเมชั่นที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
“เราอยากให้คนไทยช่วยสนับสนุนคนไทยด้วยกัน ถ้าในแง่ของผู้ประกอบการก็อยากจะให้นำคาแรคเตอร์ของการ์ตูนไทยไปต่อยอดเป็นโปรดักส์ ก็จะเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน
อย่างสมัยก่อนทุกคนต้องมีตุ๊กตามิคกี้ เมาส์, ตุ๊กตาโปเกม่อน เราก็อยากให้ก้านกล้วยเป็นตุ๊กตาอีกหนึ่งตัวที่อยู่ที่บ้านเขาบ้าง นอกจากโปรดักส์ของอเมริกาและญี่ปุ่นแล้ว เราอยากให้เกิดภาพตรงนั้น” อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย
************************************************
*** ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 72 ประจำเดือนตุลาคม 2551 ***