xs
xsm
sm
md
lg

“เชลล์ดอน” แอนิเมชั่นหอยไทย การ์ตูนมาตรฐานโลกของ “เชลล์ ฮัท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชลล์ดอน พระเอกของเรื่อง
นับเป็นผู้ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นไทยอีกรายสำหรับ “บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด” ที่มีโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่อยู่ในมือขณะนี้ นั่นคือ การสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น ซีรี่ส์ “เชลล์ดอน” การ์ตูนมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเริ่มจะออกฉายทางช่อง 3 ไม่นานมานี่
จิรยุทธ ชุษณะโชติ
เชลล์ดอน เป็นการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นภายใต้การนำของ “จิรยุทธ ชุษณะโชติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เชลล์ ฮัท ผู้ผลิตสินค้าแฮนด์เมดจากเปลือกหอยส่งออกไปทั่วโลก ภายใต้แบรนด์ เชลล์ ฮัท โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นออกฉายทั่วโลก เป็นสื่อยกระดับแบรนด์สู่สากล

“จุดมุ่งหมายแรก คือ การสร้างแบรนด์ “เชลล์ ฮัท” ให้เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนต้องถึงนึกเป็นอันดับแรก เมื่อกล่าวถึงทะเล และอยากสร้างเมืองในฝันของคนรักทะเล ตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ นึกถึงทะเลไทย ไม่เฉพาะแค่ทะเลสวย หาดทรายขาว แต่มีเรื่องราวความสุขความทรงจำอยู่เบื้องหลัง ซึ่งความทรงจำเหล่านี้ จะสื่อผ่านสินค้าแบรนด์ “เชลล์ ฮัท” แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ ต้องสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนขึ้นมาเล่น

ในขณะเดียวกันก็อยากรณรงค์ให้คนหันมาสนใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปกป้องผืนทะเล ลดมลภาวะโลกร้อน รู้จักแบ่งปันเพื่อสังคม และท้ายสุดรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง จึงมีแนวคิดที่จะสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นเพื่อถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้”


แต่กว่าจะมาเป็นการ์ตูนที่มีชีวิตมาโลดแล่นได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากที่จิรยุทธทำการสำรวจกว่า 300 เว็บไซต์ พบว่า ไม่เคยมีใครทำการ์ตูนหอยมาก่อน เพราะยากในการผลิต บุคลิกไม่เหมาะจะสื่อออกมาเป็นตัวการ์ตูน ให้คนดูชอบ สนุกไปกับเรื่องราว

ดังนั้นนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของโลกก็ว่าได้กับการนำหอยมาเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง โดยเขาต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี ในการศึกษาค้นคว้า วางคอนเซ็ปต์ เขียนโครงเรื่อง ออกแบบคาแรคเตอร์การ์ตูน กว่าจะผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้สำเร็จ

และก็ไม่ง่ายอีก เมื่อเป้าหมายในการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นในครั้งนี้ ต้องการปักธงไทยเรื่องงานแอนิเมชั่นไปทั่วโลก โดยมุ่งเจาะตลาดไปที่อเมริกา แคนนาดา และยุโรป ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดแอนิเมชั่นโลกอยู่เกือบ 80% ดังนั้นทั้งในแง่การผลิตและลู่ทางในการตลาด จึงต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ เพื่อให้งานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ

“การทำหนังแอนิเมชั่นในระดับที่มีคุณภาพดีๆ ต้องอาศัยเงินหลายสิบล้านหรืออาจเป็นร้อยล้าน และเนื่องจากในบ้านเรายังมีมูลค่าตลาดไม่มากนัก ฉะนั้นถ้าเราทำหนังดีๆ แล้วขายอยู่แต่เมืองไทย คนทำหนังก็จะตาย เพราะจะไม่คุ้มทุนการสร้าง

ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นเพราะว่าผู้บริโภคในประเทศของเขา ในเรื่องตลาดแอนิเมชั่นมีมากพอ เช่นหนังการ์ตูนเรื่องหนึ่งฉายที่ญี่ปุ่นประเทศเดียวได้ 13,000 ล้านบาท ซึ่ง Cover ต้นทุนหมดแล้ว ส่วนตลาดในต่างประเทศจะเป็นกำไร

แต่ของเราหลายๆ ผู้ผลิตทำหนังแอนิเมชั่นคุณภาพดีๆ ต้นทุนโปรดักส์ชั่นและมาร์เก็ตติ้งจะสูง ซึ่งถ้าขายในเมืองไทยที่เดียวจะไม่คุ้มทุน ฉะนั้นเขาจะต้องมองตลาดต่างประเทศด้วยเพื่อที่จะขายคอนเทนต์ออกไป”

จิรยุทธ เล่าว่า คาแรคเตอร์หลักของการ์ตูนเรื่องนี้ จะมี 8 ตัว ซึ่งจะเป็นเรื่องราวการผจญภัยอันอบอุ่นของ “เชลล์ดอน” (Shelldon) หอยพระอาทิตย์หนุ่มน้อยที่ต้องผจญภัยในการแข่งขัน รวมถึงปกป้องดินแดนให้พ้นจากคราบน้ำมัน ที่เมือง Shell Land เมืองเล็กๆในท้องทะเลใต้มหาสมุทรแปซิฟิค ไปพร้อมๆ กับผองเพื่อน อาทิ คอนนี่ (Connie) หอยเบี้ย นางเอกของเรื่อง, เฮอร์แมน (Herman) ปูเสฉวน เพื่อนสนิทของเชลล์ดอน

ด็อกเตอร์เชลล์ (Dr. Shell) หอยทากทะเล ผู้ชอบค้นคว้า วิจัย เป็นผู้ที่รอบรู้และรักธรรมชาติ, มิสซิสพริม (Mrs. Prim) กุ้งคริสตัลแดงผู้ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและมีน้ำใจ, คลิก และ แคล็ก (Click & Clack) หอยมือแมว ฝาแฝดซึ่งเป็นน้องของเชลล์ดอน ที่จะมาสร้างความป่วน และแคร็บบี้ (Crabby) ปูจอมวายร้าย จอมกวน ที่เต็มไปด้วยความละโลภ มาดำเนินเรื่องราวอันสนุกสนานนี้

สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นไทยในครั้งนี้ เขาได้ทีมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งแต่ละคนมีส่วนสำคัญในการเขียนบทภาพยนตร์ บทเพลง ที่เคยสร้างชื่อให้กับภาพยนตร์และการ์ตูนวอลท์ดิสนี่ย์มาแล้ว

ด้านการผลิตได้ร่วมกับโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่มีชื่อเสียงของไทย สิงคโปร์ และไต้หวัน ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน โดยใช้ทุนการสร้างประมาณ 100 ล้านบาท

ส่วนการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ได้มอบหมายให้ บริษัท Entertainment Rights จากประเทศอังกฤษ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยล่าสุดได้ไปแสดงในงาน MIPTV ที่เมืองคานน์ส ประเทศฝรั่งเศส ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ กว่า 45 ประเทศ ใน 6 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, ยุโรป, แอฟริกา, เอเชีย และออสเตรเลีย

ขณะนี้มี 18 ประเทศที่ตกลงเจรจาซื้อขายสิทธิ์กันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะนำไปฉายต่อจากเมืองไทยได้ภายในปี 2552 โดยตอนนี้ เชลล์ดอน แอนิเมชั่น ทีวีซีรี่ส์ ได้มีการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ หลังจาก เชลล์ดอนออกฉายแล้ว จิรยุทธ ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้กลับเข้ามาจาก 4 ช่องทางหลัก คือ 1. บอร์ดแคสติ้ง คือการขายลิขสิทธิ์ให้กับช่องต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศนำไปฉาย ซึ่งจะแยกเป็นช่องเคเบิลทีวีกับฟรีทีวี 2. ไลเซนต์ซิ่งเมอร์ชันไดส์ คือการขายไลเซนต์ให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆ เพื่อนำคาแรคเตอร์ไปผลิตเป็นสินค้า

3. มิวสิคซอง คือ จะทำอัลบั้มเพลงประกอบเชลล์ดอน รวมทั้งมิวสิควิดีโอ คาราโอเกะ ดาวน์โหลดริงโทน ฯลฯ และ 4. คอมยูนิตี้เว็บไซต์ รวมทั้งอื่นๆ อีก เช่น เกม ออนไลน์เกม เป็นต้น

“ในเบื้องต้นเราตั้งเป้าจากรายได้ในประเทศอยู่ที่ 50-60 ล้านบาท ซึ่งถึงปัจจุบันก็ได้มาประมาณ 40 กว่า% แล้ว ส่วนตลาดในต่างประเทศตั้งไว้แค่ 40 ล้าน ซึ่งหาอีก 2 ประเทศใหญ่ๆ ก็น่าจะ Cover เงินลงทุนที่ 100 ล้านบาทแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นกำไร โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าน่าจะมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5 เท่าของเงินลงทุน ซึ่งรวมทุกช่องทางทั้งตลาดในและต่างประเทศ”

สำหรับโปรเจ็กต์ต่อไป จิรยุทธ บอกว่า บริษัทเตรียมผลิตเชลล์ดอนในรูปแบบของภาพยนตร์ โดยคาดว่าจะกำหนดฉายได้ในกลางปี 2553 และในขณะเดียวกันก็เตรียมการณ์ที่จะผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นที่เกี่ยวกับศาสตร์ฮวงจุ้ยอีกด้วย คาดว่าเสร็จภายในปี 2554

สุดท้าย จิรยุทธ กล่าวฝากว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทย 1. ต้องมีคนเก่งมาร่วมแชร์ประสบการณ์ เพื่อเปิดมุมมองในการสร้างงานคาแรคเตอร์การ์ตูนไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก 2. ต้องมีการทำ R&D เพื่อดูทิศทางตลาดก่อนลงมือทำ และ 3. ต้องกล้าลงทุน กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้แตกต่าง

และสิ่งสำคัญคนไทยจะต้องช่วยกันลบภาพของการละเมิดลิขสิทธิ์ออกไปให้ได้ ซึ่งขณะนี้จีนกับไทย เป็นสองประเทศที่ขึ้นชื่อทางด้านนี้มาก เพราะตรงจุดนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานแอนิเมชั่นไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก

*****************************************************

* * * ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 72 ประจำเดือนตุลาคม 2551 * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น