“บริษัท วิธิตา แอนิเมชัน จำกัด” ผู้สามารถส่งการ์ตูนแอนิเมชั่นไทยอย่าง “ปังปอนด์” ไปโลดแล่นอยู่ในตลาดโลกได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกๆ ของเมืองไทย
วิธิตา แอนิเมชั่น เป็นบริษัทในเครือบันลือ กรุ๊ป หรือที่รู้จักกันในนามสำนักพิมพ์บันลือสาส์น ผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก ตั้งแต่ 30 ปีก่อน โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อพัฒนาคาแรคเตอร์ ปังปอนด์ ตัวการ์ตูนจากปลายปากกาของ “ภักดี แสนทวีสุข” หรือ “น้าต่าย” นักวาดการ์ตูนชื่อดังจากหนังสือการ์ตูน “ไอ้ตัวเล็ก” มาสร้างสรรค์เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นในรูปแบบ 2 มิติและ 3 มิติ
ในขณะนั้นคุณวิชิต อุตสาหจิต ประธานกลุ่มบันลือ กรุ๊ป หรือที่รู้จักกันดีในนาม บ.ก. วิติ๊ด แห่งหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ มองว่าต่อไปในอนาคตพวกเทคโนโลยีดิจิตอลมีเดียจะเกิดขึ้น ขณะที่ธุรกิจหลักของบริษัทอยู่ที่หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นการ์ตูนเล่ม อาจต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีของการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิตอล ก็เลยคิดที่จะสร้างทีมทำแอนิเมชั่น เพื่อรองรับการ์ตูนในเครือ คือ ขายหัวเราะ และมหาสนุก
“สันติ เลาหบูรณะกิจ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ย้อนเล่าถึงที่มาที่กลุ่มบันลือ กรุ๊ป ขยายไลน์ธุรกิจมาสู่การผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า
ผลงานชิ้นแรกของวิธิตา แอนิเมชั่น คือ การผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นชุด ปังปอนด์ ตะลุยโลกอนาคต ในรูปแบบ 3 มิติ ออกอากาศทางช่อง 3 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX THEATER เมื่อปี 2545 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
ต่อมาในปี 2546 ผลงานเรื่องนี้ก็ได้ไปออกอากาศที่ประเทศฮ่องกง ผ่านฮ่องกง เคเบิ้ลทีวี และติด 1 ใน 20 รายการยอดนิยม และในปี 2549 ก็ได้ไปออกอากาศที่ประเทศจีน ผ่านช่อง ซีซีทีวี และเคเบิ้ลทีวี
เมื่อผลงานเรื่องแรกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี วิธิตา แอนิเมชั่น ก็ได้พัฒนาปังปอนด์ในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีผลงานแอนิเมชั่นในรูปแบบ 3 มิติ รวม 3 ภาค ได้แก่ “ปังปอนด์ ตะลุยโลกอนาคต”, “ปังปอนด์ ผจญโลกแมลง” และ “ปังปอนด์ ตะลุยโลกหิมพานต์” แอนิเมชั่นในรูปแบบ 2 มิติคือ “ปังปอนด์ เดอะ ซีรี่ส์” และ “ลดโลกร้อนกับปังปอนด์” ซึ่งขณะนี้ออกอากาศอยู่ทางช่อง 3
ด้านความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ สันติ บอกว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ส่งออกปังปอนด์ไปในรูปแบบของการ์ตูนแอนิเมชั่นไปยังฮ่องกง และจีน ส่วนรูปแบบของพีซีเกมได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมัน และเกาหลี
ล่าสุด วิธิตา แอนิเมชั่น ได้ขายลิขสิทธิ์การ์ตูนแอนิเมชั่นทั้งสี่ภาคของ “ปังปอนด์” ให้กับ บริษัท เน็ท ลีดเดอร์ โฮลดิ้งส์ ผู้ให้บริการด้านดิจิตอลมีเดียของสิงคโปร์ และมีเครือข่ายอยู่ในยุโรป, จีน, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย เพื่อไปออกอากาศที่ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก โดยเริ่มจากมาเก๊า, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนในการต่อยอดปังปอนด์ในรูปแบบของสินค้าลิขสิทธิ์สำหรับวางจำหน่ายในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
“ปังปอนด์ เป็นคาแรคเตอร์ตัวแรกที่บริษัทเอามาปั้น แล้วพยายามทำให้เหมือนกับเป็นตัวแทนของคนไทย คือ บ.ก. วิชิตเคยเปรยๆให้ฟังว่า ทุกวันนี้เวลาพาลูกไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป สิ่งรอบตัวเรา มันเป็นกระแสของวัฒนธรรมต่างชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา หรือสินค้าต่างๆ
ถามว่าแล้วของคนไทยล่ะ คาแรคเตอร์แบบไทยๆ มีให้เลือกบ้างไหม ก็มีคนทำน้อย
ที่ผ่านมาเราปล่อยให้กระแสวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาในเด็กไทยเยอะมาก เด็กไทยก็เลยโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น เขารู้หมดว่าที่ญี่ปุ่นมีประเพณีอะไรบ้าง รู้จากไหน ก็ดูจากการ์ตูน จริงๆ ก็เป็นการส่งออกวัฒนธรรมแบบหนึ่งนะ
แต่ในทางกลับกันเราไม่มีสร้างการ์ตูนไทย ประเพณีการละเล่นไทย หรือวิถีชีวิตแบบไทย ปลูกฝังให้กับเด็กของเราเลย ฉะนั้นต่อไปเมื่อลูกหลานไทยโตขึ้นมาก็จะไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ก็น่าเป็นห่วง เราก็เลยอยากให้ปังปอนด์มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กไทยและคนทั่วโลก”
ทั้งนี้นอกจาก วิธิตา แอนิเมชั่น จะมีผลงานจากปังปอนด์ให้เห็นอย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทยังได้ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นอีก 2 เรื่อง คือ สามก๊ก มหาสนุก ออกอากาศทางช่อง 7 เมื่อปีที่ 2548-2549 และเรื่อง รามเกียรติ์ มินิ แอนิเมชั่น ออกอากาศทางช่อง 7 เมื่อปี 2550-2551 อีกด้วย
สันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธิตา แอนิเมชั่น มีธุรกิจหลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ การสร้างสรรค์งานจากคาแรคเตอร์ที่มีอยู่ เช่น ปังปอนด์, หนูหิ่น, วิลลี่ เดอะ ชิกเก้น ซึ่งในส่วนของหนูหิ่น และ วิลลี่ เดอะ ชิกเก้น ยังไม่ได้ผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นซีรี่ส์ แต่มีการขายลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์แล้ว
ส่วนที่ 2 เป็นงานให้การบริการ โดยรับจ้างผลิตงานในส่วนของงานออกแบบ งานแอนิเมชั่น 2 มิติ และ 3 มิติ งานตัดต่อและภาคเสียง ซึ่งบริษัทได้รับความไว้วางใจจากเอเจนซี่ดังๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เป็นผู้ผลิตงานแอนิเมชั่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่ผ่านตาคนไทย อาทิ ภาพยนตร์โฆษณาชุด “กบในกะลา” ของวันทูคอล, “ตุ๊กตาผ้า” ของผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มคอมฟอร์ต เป็นต้น
“จริงๆ แล้วธุรกิจแอนิเมชั่นไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ประมาณปี 2543 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีของฮาร์ตแวร์และซอฟแวร์พัฒนาขึ้น มีโปรแกรมที่ทำภาพแอนิเมชั่น ทำภาพสวยๆได้เยอะขึ้น ช่วงนั้นถือเป็นช่วงปฏิวัติเทคโนโลยีก็ว่าได้
ประกอบกับรัฐบาลในยุคนั้นมองเห็นความสำคัญของงานด้านแอนิเมชั่น จึงให้การส่งเสริมจนกระทั่งกลายเป็นที่มาของงาน Thailand Animation and Multimedia หรือ TAM เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต ขณะเดียวกันในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มเปิดการเรียนการสอนด้านแอนิเมชั่นมากขึ้น อุตสาหกรรมก็เริ่มเกิดขึ้น ก็เริ่มมีงานแอนิเมชั่นคุณภาพดีๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง”
สันติ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้วันนี้ธุรกิจแอนิเมชั่นไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ฝีมือ ทักษะของคนไทยก็พัฒนาไปมากแล้ว ที่เห็นได้ชัด คือ การผลิตงานสั้นๆ Special Effect งานที่มีดีเทลเหมือนจริง หรืองานสวยงาม คนไทยสู้ได้
แต่ถ้าเป็นงานยาวๆ มี Story มาเกี่ยวข้อง คนไทยอาจจะยังเก่งสู้เมืองนอกไม่ได้ ก็ต้องพัฒนากันต่อไป ฉะนั้นมองว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะ
*** ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 72 ประจำเดือนตุลาคม 2551 ***