xs
xsm
sm
md
lg

สสว.แนะSMEsผลิกวิกฤตจีน เป็นโอกาสผลิตสินค้าคุณภาพตีตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. ชี้วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลกระทบเศรฐกิจโลก แนะ SMEs ไทย ต้องแยกแยะ จัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่อกิจการ รักษาตลาด และขยายส่วนแบ่งในตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมพลิกวิกฤตจากจีนมีปัญหาเป็นโอกาสเร่งผลิตสินค้าคุณภาพ

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากผลระทบที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้ และส่งผลกระทบต่อ SMEs ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม SMEs ก็จะต้องแยกแยะปัญหาออกจากกันและพยายามแก้ไขปัญหา โดยลำดับความสำคัญต่อกิจการก่อน ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเรื่องปัญหาต้นทุน การเพิ่มผลิตภาพ ทักษะแรงงาน

ทั้งนี้ หากเป็นผลกระทบจากเรื่องของการส่งออก ก็ต้องพยายามขยายส่วนแบ่งในตลาดใหม่ที่มีโอกาสอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีนที่เคยเป็นผู้นำ อาจจะกลายเป็นโอกาสของ SMEs ที่จะใช้คุณภาพของสินค้า และมาตรฐานที่ดีกว่าในการรุกตลาดพร้อมกับการสร้าง ตราสินค้า (Brand) ทั้งนี้ เนื่องจากจีนกำลังประสบปัญหาภาพลักษณ์ด้านคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะในสาขาอาหารและอาหารแปรรูป เครื่องสันทนาการ (ดนตรี กีฬา ของเล่น) เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งหาก SMEs สามารถหาตลาดใหม่หรือใช้วิกฤตของจีนให้เป็นโอกาสของตน อาจจะช่วยบรรเทาความเสียหายของตลาดสหรัฐได้ไม่มากก็น้อย” นายภักดิ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่กระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สถานการณ์ทางการเมือง ความเชื่อมั่นในการลงทุน ราคาน้ำมันที่อาจจะกลับมาผันผวนในช่วงสิ้นปี อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้สิน การขาดดุลการค้า การว่างงาน ภัยธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วม ตลอดจนการแข่งขันทางการค้าและภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงส่งผลกระทบต่อ SMEs ทำให้กำไรสุทธิในปี 2551 ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน และส่งผลถึงอัตราผลตอบแทนที่อาจจะทำได้เพียงร้อยละ 3.69 หรือต่ำกว่า ประกอบกับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 6 และรายได้ด้อยค่าหรือรายได้ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อีกเกือบร้อยละ 50 จากรายได้สุทธิ จึงอาจทำให้ SMEs ตกอยู่สถานการณ์ที่ต้องเร่งปรับตัว และต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และยาว อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

นายภักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ ระยะเร่งด่วน ควรจะเน้นการแก้ไขเฉพาะหน้าเกี่ยวกับปัญหาต้นทุนของ SMEs ควบคู่การสร้างความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุนและของผู้บริโภค เช่น การพัฒนาบุคคลากร SMEs ในการลดต้นทุน ควบคู่การจัดงานส่งเสริมการลงทุน งานจับคู่ธุรกิจ หรือ งานแสดงนิทรรศการ และงานออกร้าน เป็นต้น โดยอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และการศึกษา หรือ Academic Public Private People Partnership (ATPs) นอกจากนี้ แผนระยะสั้นยังจะต้องเร่งส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเฉพาะของ SMEs รายสาขาในการส่งออก

ส่วน ระยะกลาง ควรจะเน้นการเตรียมพร้อมเพื่อการแข่งขัน โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนจากการประกอบธุรกิจ การเพิ่มผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน การขยายตลาดด้วยการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจขนาดใหญ่ (LEs) ประกอบกับการพัฒนาวิธีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการรองรับมาตรการต่างๆ จากปัญหาโลกร้อน

ในขณะที่ ระยะยาว ควรจะเน้นการปรับโครงสร้าง โดยใช้ข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับ SMEs ในสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและการบริการ เป็นรายสาขาแบบเฉพาะให้ครบวงจร อันประกอบด้วย เรื่องของต้นทุน การตลาด การเงิน การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาแรงงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การค้าระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม ปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจควบคู่การกำกับแนวทางอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น