สสว. จับมือเทศบาลตำบลอัมพวา เปิดพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวา ดันเป็นแหล่งอนุรักษ์ สืบสาน เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนมไทย ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนมไทยในชุมชนอัมพวา ให้เป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง เสริมสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลอัมพวา ร่วมมือกับ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวาขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งจัดให้มีพิธิเปิดโดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นประธานในพิธีเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าวนี้ หวังพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ขนมไทยของผู้ประกอบการในชุมชนอัมพวา รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมไทยของชุมชนอัมพวา ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเป็นต้นแบบของวิสาหกิจชุมชนขนมไทย ขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
นายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมการผลิต การพัฒนาและยกระดับขนมไทยทุกประเภท ให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายขนมไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นความร่วมมือกับ สสว. และเทศบาลตำบลอัมพวา ในการดำเนินโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวา จึงเป็นส่วนสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ สืบสาน เรียนรู้ และพัฒนาอุตสาหกรรมขนมไทย
“ชุมชนอัมพวา มีจุดเด่นทั้งในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสถานที่ประสูติและประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่สำคัญยังเป็นแหล่งกำเนิดและต้นตำรับของอาหารและขนมไทยหลากหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนมไทยในชุมชนอัมพวา จำนวนกว่า 60 ราย มีการผลิตและจำหน่ายขนมไทยกว่า 50 ชนิด แต่ที่ผ่านมายังขาดการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์” นายพีรวงศ์ กล่าว
ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ขนมไทย จึงจะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนมไทยที่มีชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งและดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากจะจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา แล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะในการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน
โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับขนมไทย และรวบรวมผลิตภัณฑ์ขนมไทยในชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้โดยสะท้อนเรื่องราวในอดีต ผ่านสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน องค์ประกอบต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีความเคลื่อนไหว เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ด้วยเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม และนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพทุนที่มีอยู่ในชุมชน
ในส่วนของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมขนมไทย ก็จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนมไทยในชุมชนอัมพวา ให้เป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง
“โครงการพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวาแห่งนี้ จะเป็นก้าวย่างสำคัญของการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาอุตสาหกรรมขนมไทย ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่อัมพวา ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชน ให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายพีรวงศ์ กล่าว