กสอ.แจงผลงานปี2551 ส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีได้กว่า 5 พันราย และพัฒนาวิสาหกิจชุมชนกว่า 2 พันราย ด้วยงบประมาณ 1,027.71ล้านบาท พร้อมวางแนวทางปี 2552-2554 เน้น 4 ยุทธศาสตร์ สร้างผู้ประกอบการให้เติบโตและแข็งแรงอย่างยั่งยืน เผยงบปี 2552 ได้งบ 250 ล้านบาท ส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี และ งบกว่า 240 ล้านบาท สำหร้บเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ 10,000 ราย
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลดำเนินงานในโครงการในปี 2551 ว่า ในปี 2551 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,020.71 ล้านบาท มีเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน คือ ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเอสเอ็มอี 5,207 ราย พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 9,600 ราย ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 2,965 ราย และให้บริการข้อมูลสารสนเทศแก่เอสเอ็มอี 3,100 ราย
โดยโครงการและกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินงาน ประกอบด้วย การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) การจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (TEM) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ (MDICP) การลดความสูญเปล่าในการผลิตแบบ LEAN โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น (Bangkok Fashion City) การรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Clustering) การพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) การพัฒนามาตรฐานการจัดการอุตสาหกรรมชุมชน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ
สำหรับแนวทางดำเนินงานระหว่างปี 2552 – 2554 กำหนดกลยุทธ์ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้แข็งแรง การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและยั่งยืน การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร ทำหน้าที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศ ด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และธรรมาภิบาล
โดยปีงบประมาณ 2552 กรมฯมีแนวทางดำเนินงานครอบคลุมเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เช่น การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี 6,000 ราย งบประมาณ 251.5 ล้านบาท เสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิม 10,000 ราย งบประมาณ 242 ล้านบาท ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน 3,000 ราย งบประมาณ 42.2 ล้านบาท และสนับสนุนปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ 4,200 ราย งบประมาณ 70.875 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการใหม่เกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอีด้วยไอที เน้นการพัฒนาระบบงานบริหารการผลิต และการตลาดบนเว็บไซต์ จำนวน 20 ราย ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท โครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แนวทางการตลาดนำการผลิต ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายในการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน 300 ราย และก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 300 ราย ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท