xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ส.ค. ภาคเกษตรเพิ่มรับกระแสน้ำมันลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. เผยดัชนี TSSI SMEs ประจำเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เป็น 40.3 และ 45.5 โดยมีกิจการค้าส่งสินค้าเกษตร ค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบริการด้านการขนส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนสิงหาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 40.3 จากระดับ 38.5 โดยมีผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ ได้แก่ ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ซึ่งอยู่ที่ 38.1 40.4 และ 41.0 จากระดับ 37.0 38.5 และ 39.0 ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็น 25.1 และ 35.9 จากระดับ 33.4 และ 36.9 ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ในส่วนของภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 39.7 จากระดับ 37.2 (เพิ่มขึ้น 2.5) เนื่องจากต้นทุนหลัก คือราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการค้าปลีก กิจการค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 42.1 จากระดับ 38.9 (เพิ่มขึ้น 3.2) เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจซื้อสินค้ากลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น โดยยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างดี ส่วนภาคบริการ กิจการด้านการขนส่ง มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 43.1 จากระดับ 35.7 (เพิ่มขึ้น 7.4) เนื่องจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ ปรับตัวลดลงในระดับสูงในเดือนนี้

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 45.5 จากระดับ 43.8 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.5 44.3 และ 46.8 จากระดับ 41.9 43.6 และ 44.6
กำลังโหลดความคิดเห็น