ด้วยความผูกพันระหว่างสายใยแม่ลูกทำให้ “สุปราณี อัฐนาค” และ “สุปรีญา อัฐนาค” สองพี่น้องฝาแฝดจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับการถ่ายทอดการปักและถักไหมพรมจากคุณแม่ แล้วคิดต่อยอดผลิตสินค้าหลายประเภท อาทิเช่น หมวก, เข็มขัด, กำไล, ที่คาดผม, กระเป๋า จนกลายเป็นไอเดียไหมพรมแปลงกาย สร้างรายได้ได้ไม่น้อย
“ปกติจะอยู่บ้านกับครอบครัว คุณแม่ก็จะสอนโน่นสอนนี่ให้เราทำอยู่บ่อยครั้ง แต่ทีเราสองคนชอบทำเหมือนกัน ก็คือ การถักไหมพรม จึงขอร้องให้คุณแม่สอนให้ทำ พอเริ่มทำได้หลายแบบเข้า ก็อยากจะใช้ความสามารถตรงนี้หารายได้ แบ่งเบาภาระครอบครัว” สุปราณี เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำสินค้าออกมาขาย
สุปรีญา กล่าวเสริมว่า พอมีเพื่อนแนะนำว่าพื้นที่ตรงสยามสแควร์มีกิจกรรมเกี่ยวกับนักศึกษา ให้ทำสินค้าขึ้นเองแล้วมาขาย จึงสนใจและมาลองขาย ปรากฏว่าขายได้และขายดี จึงเริ่มผลิตสินค้าที่หลากหลายขึ้น พอตลาดอินดี้ฯ ที่สยามสแควร์ย้ายมาที่หน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ตามมาขายต่อ เพราะคิดว่าคงขายได้ไม่แพ้กัน
สำหรับการออกแบบสินค้า ทั้งสองจะออกแบบเอง ซึ่งนอกจากแบบที่คุณแม่สอนให้แล้ว บางส่วนก็จะเรียนรู้เอาเอง จากการทดลองทำเองบ้าง จากหนังสือญี่ปุ่นบ้าง จำพวกงานปักถักร้อยเพื่อยึดมาเป็นแนว แล้วต่อยอดไอเดียจากตรงนั้น
“สินค้าชิ้นที่ขายดีที่สุดจะเป็นกำไล ซึ่งจะมีทั้งแบบกลมและแบบเหลี่ยม เฉลี่ยแล้วก็จะขายดีทั้งคู่ ต้นทุนต่อชิ้นอย่างกำไล ก็จะไม่แพงมากนัก แต่จะเป็นต้นทุนจากน้ำแรงมากกว่า ใช้เวลาชิ้นหนึ่งก็ประมาณหนึ่งชั่วโมง
ส่วนสินค้าที่ขายดีตัวรองลงมา ก็จะเป็นหมวก อย่างตัวหมวกเราก็จะทำกันอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ถ้าคิดเป็นสต็อกก็มีไม่มาก แล้วก็พยายามทำให้มันมีหลายๆ สี ให้หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าได้เลือก พอถึงวันศุกร์ เขาเรียกมาขาย เราก็จะเอาตรงนั้นมาขาย และนอกจากจะทำที่บ้าน เราก็มานั่งทำให้เห็นกันสดๆ เลยก็มี เป็นการใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด"
"สินค้าตัวอื่นอย่างตุ้มหู ต้นทุนต่อชิ้นก็จะตกอยู่ที่ 10 บาท รวมตั้งแต่ตะขอเกี่ยว ตัวตุ้มหูที่ถักจากเส้นไหม ราคาขายก็ 59 บาท กำไลก็ 69 บาท ก็จะได้กำไร
จริงๆแล้วจะดูเหมือนได้กำไรเยอะ เพราะต้นทุนจริงๆ มันไม่สูง แต่ถ้าคิดเป็นค่าแรงและเวลาที่เสียไป และอีกอย่างมันเป็นสินค้าแฮนด์เมดล้วนๆ มันคุ้มค่านะ ถ้าจะซื้อ”
สุปราณี บอกว่า รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยประมาณหมื่นกว่าบาท อย่างช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ก็ไม่ได้ขายดีมาก แต่จะขายได้เรื่อยๆ มากกว่า ที่เคยขายได้เยอะสุดก็ 4,000 บาทต่อวัน
“การขายของที่นี่ทำให้เรา 2 คน หารายได้ด้วยตัวเองได้ ทำให้ไม่ต้องคอยขอเงินพ่อแม่เหมือนเก่า แต่ก็อาจจะมีบ้าง หากเดือนไหนมีค่าใช้จ่ายเยอะ แล้วไม่พอใช้ แต่ถ้ายังมีกิจกรรมดีให้ทำต่อไปเรื่อยๆ เราก็ยังจะใช้เงินที่หามาได้เองก่อน เป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองด้วยส่วนหนึ่ง”
ต้องบอกว่าสองสาวเป็นอีกหนึ่งตัวแบบที่ถือว่า วันนี้ประสบความสำเร็จในการหารายได้ด้วยตัวเองและพร้อมที่จะก้าวไปเป็นเถ้าแก่ หรือเจ้าของธุรกิจในอนาคตได้ไม่ยาก
**************************************
ข้อมูลจาก นิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน 2551