xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย”แจงสัญญา IRSธพว.โมฆะ! พร้อมส่งรายชื่อผู้ทำผิดต่อปปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย สัจจพงษ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
สมชัย เผย ธพว.ได้รับหมายการฟ้องศาลกรณีพิพาทจาก SCBT แล้ว ด้านธพว.ได้แจ้ง ความเป็นโฆฆะอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (IRS) แบบซับซ้อน ซึ่งมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร กับธนาคาร SCBT ส่วนการเอาผิดได้มีการส่งรายชื่อผู้กระทำผิดให้ ปปช.แล้ว จำนวน 4 ราย เป็นผู้กระทำผิดทั้งอยู่ภายในและภายนอกธนาคาร ส่วนความเสียหายที่เกิดจากธพว.ได้จ่ายไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท ธนาคารเรียกค่าเสียหายทางเพ่งกับผู้กระทำผิด

นายสมชัย สัจจพงษ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยถึงกรณีข้อพิพาทระหว่าง ธพว. กับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตเตอร์ต (SCBT) ในกรณีที่คณะกรรมการธนาคาร ได้มีมติให้ฝ่ายจัดการดำเนินการระดมเงินฝากจากต่างประเทศ โดยการออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับประมาณ 11,400 ล้านบาท และกำหนดให้ฝ่ายจัดการดำเนินการจัดทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (CCS) และอัตราดอกเบี้ย ( IRS) โดยกำหนดให้เป็นไปตามต้นทุนรวม และไม่เป็นการเก็งกำไร

ทั้งนี้ ในส่วนของ FRCD และ CCS ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหา คือ ในส่วนของ IRS เนื่องจากผู้บริหารของธพว. ได้ดำเนินการไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ โดยดำเนินการทำธุรกรรมอนุพันธ์ IRS กับธนาคาร SCBT เป็นแบบซับซ้อน (Exotic หรือ Stucture) ซึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดในการดำเนินการอย่างไม่เป็นระบบ ระหว่างพนักงานของธพว.และบุคคลภายนอก

โดยทางธพว.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบวินัยพนักงานเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว สรุปได้ว่า นิติกรรมที่เกี่ยวกับการจัดทำธุรกรรมอนุพันธ์ IRS แบบซับซ้อนกับธนาคาร SCBT ตกเป็นโฆฆะ ซึ่ง ธพว.ได้ดำเนินการแจ้งโมฆะกรรมของสัญญา IRS ไปยังธนาคาร SCBT นอกจากนี้ คณะกรรมการ ธพว.ได้มีมติตามผลการสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัย ว่า เห็นควรดำเนินการลงโทษด้านวินัยแก่พนักงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นควรกล่าวโทษร้องทุกข์ความผิดทางอาญาแก่พนักงานและ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จำนวน 4 ราย ซึ่งมีทั้งที่เป็นพนักงานภายในของธพว. และ บุคคลภายนอก ส่วนอีก 3 ราย เป็นการผิดวินัยได้มีการตักเตือนทางวินัยไปแล้วจำนวน 3 ราย และ ตักเตือนด้วยวาจาจำนวน 3 ราย และหากปรากฏว่า ธพว.จะต้องเสียหายใดๆ ให้เรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ข้อพิพาทระหว่าง ธพว. และ SCBT อยู่ในขั้นตอนของกฏหมาย และทาง ธพว.ได้รับหมายจากศาล ตามที่ SCBT ไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ซึ่งมีกำหนด 45 วัน ตามหมายเรียกที่ ธพว.จะต้องเตรียมตัว ในขณะเดียวกัน ธพว. ได้ตั้งสำรอง เพื่อใช้ในการชำระเบี้ยปรับในส่วนที่ขาดตามสัญญา IRS ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาไว้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทางธพว.ได้มีการจ่ายเงินค่าปรับในส่วนของ IRS ไปแล้วจำนวนกว่า 323 ล้านบาท ก่อนที่ ธพว.จะพบความผิด ส่วนที่เหลือที่ทาง SCBT เรียกมาอีกกว่า 324 ล้านบาท ธพว.จึงไม่สามารถชำระให้ได้ เพราะพบความผิดดังกล่าว และได้มีการแจ้งความเป็นโมฆะกรรมของสัญญาไปยัง SCBT แล้ว อยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่ว่าทาง ธพว.จะเบี้ยวหนี้แต่อย่างใด และ ธพว.มั่นใจว่ามีข้อมูลที่สามารถเอาผิดกับทาง SCBTได้

สำหรับการทำธุรกิจอนุพันธ์ IRS แบบซับซ้อนตามข้อ 2 ข้างต้น มีลักษณะเป็นการเก็งกำไร โดยมีการกำหนดเงือนไขให้อัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. ต้องจ่ายผูกติดกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดลอนดอน (Libor) ซึ่งการทำธุรกรรมอนุพันธ์ IRS ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร และเพิ่มความเสี่ยงให้กับ ธพว.ทำให้ ธพว.มีภาระเบี้ยประกันส่วนเพิ่มร้อยละ 8.5 หรือเท่ากับประมาณวันละ 2.5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2551 เป็นต้นมา และประมาณว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงยังอยู่นอกเขตที่ตกลงกันไว้ จนสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2554 ธพว.จะต้องจ่ายเบี้ยปรับส่วนเพิ่มนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น