ถึงวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า พลังงานทดแทนจากพืชเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยประเทศฝ่าทางตันวิกฤตน้ำมันดิบพุ่งทะยานไปได้ โดยพืชที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันได้อย่างดีอันดับต้นๆ คือ “ปาล์ม” เหตุนี้ จึงมีผู้ประกอบการจำนวนมาก สนใจอยากลงทุนธุรกิจสวนปาล์ม
แม้ความต้องการปาล์มในตลาดจะสูง ทว่า ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ ระดับเกษตรกรตัวจริง โอกาสยิ่งยากเป็นทวีคูณ เพราะนอกจากต้องมีปัจจัยพื้นฐานอำนวยแล้ว ยังต้องมุ่งเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองด้วย อย่างเช่นรายของ “สมนึก บัวอินทร์” วัย 56 ปี เจ้าของธุรกิจสวนปาล์ม ใน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมาถ่ายทอดเส้นทางอาชีพ พร้อมแนะแนวทางธุรกิจจากประสบการณ์จริงที่ผ่านมา
สมนึก เริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จากเดิมเคยทำนาข้าว แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงสนใจเปลี่ยนมาทำสวนปาล์มแทน ซึ่งเวลานั้นยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มจะสดใสในอนาคต
เจ้าของธุรกิจ ขยายความต่อว่า สิ่งสำคัญเบื้องต้นของผู้สนใจทำธุรกิจนี้ คือ ต้องมีที่ดินเหมาะสมเสียก่อน ซึ่งที่ดินเหมาะสมปลูกปาล์มในภาคใต้ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เวลานี้ราคาซื้อขายกันไร่ละเป็นล้านบาท และยังต้องรอนานถึง 2.5 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตได้ จึงเป็นเรื่องยากที่คนทุนน้อยจะเข้ามาทำได้ แต่สำหรับตัวเอง ถือว่า มีปัจจัยเอื้อเพราะเป็นที่ของตัวเอง ตกทอดมาจากครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีที่ดินของตัวเอง แต่ปัญหาสำคัญในช่วงเริ่มต้นนั้น คือ เมืองไทยเวลานั้น ยังขาดแคลนความรู้ที่แท้จริงในการปลูกปาล์ม โดยเฉพาะการคัดเลือกต้นกล้าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมเมืองไทย เกษตรกรหลายรายล้มเหลวตั้งแต่ก้าวแรกเพราะใช้สายพันธุ์ผิด ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นดั่งต้องการ กำไรที่หวังกลับกลายเป็นขาดทุนทันที
สายพันธุ์ที่เกษตรกรรายนี้ เลือกใช้ คือ พันธุ์เทเนอร่า (Tenera) จากประเทศมาเลเซีย โดยความรู้ต่างๆ มาจากการลองผิดลองถูก เรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น เนื่องจากทำด้วยแรงงานคนเดียวแทนทุกอย่าง
ทั้งนี้ อุปสรรคใหญ่ที่สุดของเกษตรกรสวนปาล์มนั้น เกิดจากถูกเอารัดเอาเปรียบโดยพ่อค้าคนกลาง หรือในวงการเรียกกันว่า “ลานเท” ซึ่งจะทำหน้าที่รับซื้อปาล์มจากเกษตรกร แล้วนำไปขายต่อให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์ม
เล่ห์เหลี่ยมที่ลานเทใช้ คือ โกงตาชั่ง อีกทั้ง เมื่อชาวสวนตัดปาล์มมาขาย จะฉีกน้ำและทรายเข้าในผลปาล์ม เพื่อให้เมล็ดปาล์มส่วนที่ดี ที่เรียกกันว่า “ลูกร่วง” หลุดออกมาแล้วแอบเอาไปเก็บไว้ขายโรงงานเอง ทำให้ผลผลิตปาล์มที่ชาวบ้านส่งมาขายเหลือแต่ปาล์มคุณภาพต่ำ เมื่อส่งไปเข้าโรงงานกลั่นแล้วจะได้น้ำมันคุณภาพต่ำ โรงงานจึงกลับมากดราคารับซื้อจากชาวสวนอีกที ส่วนลานเทนอกจากจะได้กำไรจากผลต่างราคารับซื้อขายแล้ว ก็ยังได้กำไรจากการแอบลักลอกขายลูกล่วงของชาวสวนอีกต่อ
“ในสุราษฎร์ฯ มีลานเทประมาณ 300 กว่าแห่ง มีไม่ถึง 5 รายที่ทำธุรกิจแบบมีจริยธรรม ที่เหลือใช้วีธีโกงตาชั่ง กับแอบฉีดน้ำฉีดทรายเข้าผลปาล์มทั้งหมด เมื่อก่อนชาวสวนไม่มีความรู้ โรงงานเสนอราคารับซื้อเท่าไรก็ต้องยอม จนเมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้ามาผลักดันให้ชาวสวนรวมกลุ่มคลัสเตอร์ปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ชาวสวนที่เดิมต่างคนต่างขายให้ลานเท ได้มาพบโรงงานโดยตรง ตัดวงจรไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วยให้ปัจจุบัน ชาวสวนสามารถกำหนดราคาขายได้เอง ขณะที่โรงงานก็ได้ปาล์มคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบัน การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ยังไม่มากนัก ทำให้เกษตรกรสวนปาล์มจำนวนไม่น้อย ยังขาดข้อมูลตรงนี้ จึงตกเป็นเหยื่อของลานเทอยู่” สมนึก อธิบาย
สำหรับสวนปาล์มของสมนึก มีพื้นที่ ทั้งหมด 45 ไร่ แต่ละไร่ปลูก 22 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 10 x 10 เมตร ให้ผลผลิตประมาณ 6 ตันต่อไร่ต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือกำไรประมาณ 70,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่า สูงกว่าชาวสวนปาล์มรายอื่นๆในท้องถิ่น ที่เฉลี่ยประมาณ 3 ตันต่อไร่ต่อปี
เหตุที่เป็นเช่นนี้ มาจากภูมิปัญญาแบบชาวบ้านของสมนึก ซึ่งคิดค้นระบบท่อน้ำรดที่โคนต้นปาล์มทุกต้น ซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดผลดีอย่างยิ่ง
“ปาล์มจะหยุดการเติบโตเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง ดังนั้น เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมจึงค่อยๆ ทดลองวางระบบท่อน้ำ ใช้ทุนรวมกว่า 700,000 บาท (เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อไร่) โดยขุดล่องน้ำตลอดสวนแล้ววางเครื่องปั้มน้ำ เพื่อกระจายน้ำไปยังหัวฉีดที่วางไว้ที่โคนต้นปาล์มทุกต้น วิธีนี้แม้ต้นทุนจะสูง แต่ได้ผลดีในระยะยาว ทำให้ต้นปาล์มได้รับความชุ่มชื่นตลอดทั้งปี ผลผลิตจึงมีปริมาณสูงขึ้นจากเดิมกว่า 60%” เจ้าของสวน เผย
ด้วยความเป็นเกษตรกรผู้มีแนวทางพัฒนาตัวเองยอดเยี่ยม สมนึกจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธานกลุ่มคลัสเตอร์ปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวสวนปาล์มในท้องถิ่น เช่น ทำปุ๋ยชีวภาพใช้ร่วมกัน จัดซื้อตาชั่งกลาง และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน อย่างเช่นการวางระบบท่อน้ำ ช่วยให้ปัจจุบัน สมาชิกมีค่าเฉลี่ยผลผลิตโดยรวมเพิ่มเป็น 4 ตันต่อไร่ต่อปีแล้ว
สมนึก ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตธุรกิจปาล์มน่าจะดีต่อเนื่อง จากยุคเริ่มต้นของเขา ราคาขาย 1 บาทต่อกิโลกรัม ทุกวันนี้ขึ้นเป็น 6 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนั้น ทุกส่วนของปาล์มยังสามารถนำไปแปรค่าเป็นเงินได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท หากสนใจทำธุรกิจนี้จริงๆ ควรศึกษารายละเอียดให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่ยังขาดแคลนความรู้ แนะนำว่า ควรติดต่อขอรับคำแนะนำ และความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่ปัจจุบันพร้อมให้ความรู้อย่างครบวงจร
*****************
โทร. 081-087-8183