xs
xsm
sm
md
lg

แซกฯพลาสติก‘Vibrato’ ฝีมือไทยรายแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แซกโซโฟน” ถือเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยเสน่ห์เสียงอันไพเราะเป็นเอกลักษณ์ ทว่า เนื่องจากราคาแพง เป็นกำแพงให้ใครหลายคนที่อยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ คงเป็นได้แค่ผู้ฟัง

จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทยรายหนึ่ง พัฒนาแซกโซโฟนพลาสติกที่มีเสียงเหมือนทำจากทองเหลืองสำเร็จเป็นรายแรกของโลก ในชื่อแบรนด์ ‘ไวเบรโต’ (Vibrato)
ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ
ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวเบรโต จำกัด เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนเล่นดนตรี และเชื่อว่าดนตรีเป็นสื่อสากลทุกคนควรจะเข้าถึงและเล่นได้ไม่ว่ารวยหรือจน ทว่า เครื่องดนตรีอย่างแซกโซโฟนทองเหลืองที่ขายกันอยู่ ราคาเริ่มต้น 30,000 บาทไปถึงหลักแสน ซึ่งราคานี้ สูงเกินกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนจะเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นการจุดประกายอยากหาวัสดุอื่นมาทดแทน โดยมีคุณภาพเสียงที่ดีไม่แพ้กัน แต่ราคาถูกกว่า

“วัสดุที่ผมเลือกมาใช้ผลิต คือ พลาสติกประเภทโพลิคาร์บอเนต จากประเทศเยอรมัน ซึ่งมีคุณภาพน้ำหนักเบา ให้เสียงหนากังวาน ทนทาน ตกกระแทกไม่แตก กันน้ำได้ อีกทั้ง เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ไม่มีสารหนักตกค้าง ซึ่งกระบวนการผลิตแตกต่างจากแซกโซโฟนทองเหลือง โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นออกแบบจากแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด คุณภาพเสียงที่ได้จะเหมือนหรือใกล้เคียงแซกโซโฟนที่ทำจากทองเหลืองถึงขั้นแยกกันไม่ออก” เจ้าของธุรกิจ ยืนยัน และอธิบายต่อว่า

งบประมาณในการวิจัยพัฒนา และผลิตสินค้านำร่อง รวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นทั้งทุนส่วนตัวและกู้จากสถาบันการเงิน ใช้เวลาทดสอบ 2 ปีกว่าจะสำเร็จ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘Vibrato’ โดยได้นักแซกโซโฟนระดับแถวหน้าของประเทศไทยอย่าง “โก้ มิสเตอร์แซกแมน” ( เศกพล อุ่นสำราญ) เป็นผู้ทดสอบเสียงจนแน่ใจว่าได้เสียงคุณภาพระดับมาตรฐาน รับรองโดยมืออาชีพ

ปิยพัชร์ ยอมรับว่า ในต่างประเทศ เคยมีความพยายามนำพลาสติกมาผลิตเป็นแซกโซโฟนแล้วเช่นกัน โดยใช้วัสดุเป็นพลาสติกประเภทเรซิน แต่เกิดปัญหาแตกร้าว จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ในที่สุดต้องหยุดการผลิตไป ขณะที่แซกโซโฟน ‘Vibrato’ ถือเป็นรายแรกในโลกที่ใช้วัสดุโพลิคาร์บอเนต รวมถึง มีกระบวนการผลิตเป็นของตัวเอง โดยการฉีดสารพลาสติกเข้าแม่พิมพ์ ได้จดสิทธิบัตรทั้งใน และต่างประเทศ คุ้มครองไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับลูกค้าเป้าหมายนั้น อยากมุ่งไปที่กลุ่มเยาวชน และวัยรุ่น เพื่อเปิดโอกาสได้เล่นเครื่องดนตรีราคาไม่สูงนัก วางไว้ที่ตัวละ 8,000 – 9,000 บาท มีจุดเด่นเป็นแซกโซโฟนน้ำหนักเบา เพียง 800 กรัม ง่ายต่อการเล่น สามารถพกพาไปได้ทุกที่สะดวก ตำแหน่งการวางนิ้วและกลไกเหมือนแซกโซโฟนต้นตำรับทุกประการ นอกจากนั้น ข้อดีอีกประการของพลาสติก สามารถใส่สีสันและลวดลายต่างๆ ลงไปได้ ช่วยเพิ่มความทันสมัย เหมาะแก่คนรุ่นใหม่
ชิ้นส่วนต่างๆที่ประกอบเป็นแซกโซโฟน
ด้านการตลาดมองไว้เตรียมส่งออกต่างประเทศร้อยละ 90 ผ่านตัวแทนจำหน่ายตามประเทศต่างๆ รวมถึงออกงานแฟร์ระดับสากลเกี่ยวกับเครื่องดนตรี ส่วนในประเทศไทยร้อยละ 10 ผ่านตัวแทนจำหน่ายรับไปกระจายตามร้านขายเครื่องดนตรี และอนาคตจะบริจาคตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ทดลองใช้ หวังสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น

ปิยพัชร์ เผยอีกว่า ผลงานชิ้นนี้ ผลิตสำเร็จเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว (2550) โดยเวลานี้อยู่ระหว่างทดลองตลาด ผ่านการแนะนำสินค้าที่เว็บไซด์ www.vibratosax.com และเตรียมจะวางตลาดจริงในช่วงปลายปีนี้ (2551) โดยผลิตนำร่อง จำนวน 20,000 ตัว ตั้งเป้าว่าจะขายหมด และคืนเงินลงทุนได้ในเวลา 1 ปี

“ถึงแม้ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นเยาวชน แต่ผลตอบรับที่กลับมา ปรากฏว่า มีนักแซกโซโฟนมืออาชีพสั่งจองสินค้าเข้ามาจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า ชอบในความแปลกใหม่ อยากมีไว้เก็บสะสม และไว้ใช้เล่นนอกสถานที่ต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษามากนัก ซึ่งจากออเดอร์สั่งจองล่วงหน้า เชื่อว่า สินค้านำร่อง จำนวน 20,000 ตัวจะจำหน่ายได้ตามเป้าที่วางไว้” เจ้าของธุรกิจเผย

เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ในท้องตลาด ปัญหาที่อาจตามมา คือ โดนลอกเลียนแบบ แล้วขายตัดราคา ในมุมมองของปิยพัชร์ กลับไม่กังวลประเด็นนี้เท่าใดนัก เพราะมั่นใจในกระบวนการผลิตเป็นเคล็ดลับที่ไม่สามารถจะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ หรือถ้าทำออกมาได้ คุณภาพเสียงไม่น่าจะดีเทียบเท่า และที่สุดถ้ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจริงๆ ก็สามารถเรียกร้องความเสียหายได้ตามสิทธิ์ที่จดคุ้มครองไว้

ปิยพัชร์ ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายสูงสุดของเขา อยากให้แซกโซโฟนพลาสติก‘Vibrato’ เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาสนใจเล่นดนตรีมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า ดนตรีจะเป็นเครื่องช่วยหล่อหลอมให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคมไทยต่อไป

****************

โทร.02- 272- 2554 หรือ www.vibratosax.com
กำลังโหลดความคิดเห็น