xs
xsm
sm
md
lg

SMEs ภาคผลิตวิกฤตหนัก วอนรัฐฯเสริมแกร่งการตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอี แบงก์ สำรวจสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย ครั้งที่ 1 พบธุรกิจเอสเอ็มอีภาคการผลิตเจอผลกระทบหนักจากภาวะเศรษฐกิจ ภาระต้นทุน วัตถุดิบ และพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดแนวโน้มผลประกอบการไม่สดใส ผู้ประกอบการวอนหน่วยงานรัฐฯ เติมองค์ความด้านการตลาด หวังสร้างรายได้และผลักดันธุรกิจพร้อมแข่งขัน

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำโครงการ “สำรวจสถานการณ์ SMEs ไทย ครั้งที่ 1” ของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 26 จังหวัด ผู้ประกอบการ จำนวน 707 ราย ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 10 เมษายน 2551 พบว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อกิจการจำนวนถึง 617 ราย คิดเป็น 87.3% โดยผู้ประกอบการภาคการผลิตได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวน 267 ราย คิดเป็น 90.2% รองลงมาคือ ผู้ประกอบการภาคบริการ จำนวน 162 ราย คิดเป็น 87.6% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น วัตถุดิบที่แพงขึ้น และค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดัน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการตลาดมากที่สุดสูงถึง 24.3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า เพื่อให้มีโอกาสขายของได้ รองลงมา คือ ด้านการเงิน 23.3% ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาสภาพคล่องขาดเงินทุนหมุนเวียน และด้านปัจจัยการผลิต 12.9% และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเติมเต็มองค์ความรู้ด้านการตลาดมากที่สุดเช่นกันถึง 31.7% รองลง คือ ความรู้ด้านการผลิต 15.8% และ ความรู้ด้านการเงิน 15.0%

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเงินกู้จากสถาบันการเงินมีสัดส่วน 48% รองลงมาคือ ยืมญาติพี่น้องมาลงทุน โดยมีวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ล้านบาท เหตุผลที่เลือกกู้จากสถาบันการเงิน เพราะใช้บริการของธนาคารนั้นๆอยู่แล้ว รองลงมา คือ ได้รับบริการที่ดี

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่านโยบายช่วยเหลือด้านการตลาดที่ เอสเอ็มอี แบงก์ ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นการตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการอย่างตรงใจ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ คือ ต้องพยายามสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น