xs
xsm
sm
md
lg

ฆ้องเงินล้านบ้านทรายมูล ตำนานเสียงกังวานมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฆ้องของบ้านทรายมูล
เสียงก้องกังวานเมื่อไม้นวมตีเข้ากลางฆ้อง นอกจากจะช่วยให้ผู้ผ่านไปมา พอได้ยินคาดเดาได้ว่า บริเวณนั้นคงมีบุญประเพณี หรืออยู่ใกล้เขตวัด เบื้องหลังเสียงดังกล่าว คือ วิถีชีวิตชาว ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ที่สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันเป็นอาชีพสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนแห่งนี้

ย้อนตำนานฆ้องทรายมูล

เล่าขานกันว่า เดิมฆ้องที่ใช้ในประเทศไทยนั้น มาจากประเทศพม่า โดยร้าน “ช่วยเจริญสังฆภัณฑ์” จ.อุบลราชธานี รับซื้อมา เพื่อขายต่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะซื้อไปหาบเร่ขายในประเทศลาวอีกทอดหนึ่ง
ขั้นตอนการตีปุ่ม
แต่เนื่องจากรับมาไกลราคาจึงแพง ทำให้เกิดการริเริ่มทำฆ้องขึ้นเองที่ “บ้านห้วยขยุง” จ.อุบลราชธานี แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนเริ่มต้น จากนั้น ราว พ.ศ.2524 ชาวบ้านทรายมูลที่อยากทำฆ้องเป็นบ้าง ได้ขอฝึกฝนฝีมือจากนายช่างบ้านห้วยขยุง แล้วนำกลับมาเผยแพร่ให้พี่น้องบ้านเกิด และถ่ายทอดต่อๆ กันจนปัจจุบัน ชาวบ้านทรายมูล และใกล้เคียงต่างยึดอาชีพทำฆ้องแทบทุกครัวเรือน ส่วนบ้านห้วยขยุงแหล่งกำเนิด ภูมิปัญญานี้กลับค่อยๆ สูญหาย เพราะขาดผู้สานต่อ
หาญศึก ทนยิ่ง
อาชีพตีฆ้องสร้างเงินล้าน

หาญศึก ทนยิ่ง ประธานกลุ่มส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฆ้อง ต.ทรายมูล เผยว่า ความรู้การตีฆ้องจะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านแทบทุกคนรู้จักวิธีทำอย่างดี และยึดอาชีพทำฆ้องเป็นรายได้เสริมหลังการทำนา ทั้งรับจ้างและเป็นผู้ผลิตเอง ในพื้นที่มีผู้ผลิตฆ้องรายใหญ่อยู่ประมาณ 7 ราย ส่วนรายเล็กรายน้อยอีกไม่ต่ำกว่า 200 ราย
ฆ้องเหล็ก และฆ้องทองเหลือง
ในส่วนการตลาดจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงบ้าน ประมาณร้อยละ 80 จะซื้อเพื่อนำไปขายต่อร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกจังหวัดต้องมีร้านสังฆภัณฑ์ที่ขายฆ้องทรายมูลอย่างน้อยหนึ่งร้าน ส่วนอีกร้อยละ 20 จะส่งไปขายยังประเทศลาว
ฆ้องขนาดเล็ก
วัสดุที่ใช้ทำฆ้อง มี 2 ประเภท คือ ทองเหลือง กับเหล็ก ขนาดฆ้องที่ทำขาย มีตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ถึง 7 เมตร โดยขนาดยอดนิยมคือ 1.5 เมตร ราคาขาย ถ้าเป็นฆ้องเหล็ก ประมาณ 45,000 บาท ส่วนฆ้องทองเหลือง ประมาณ 75,000 บาท

การวาดลาย
เนื่องจากการทำฆ้องเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งช่างต้องใช้ความชำนาญสูง ประกอบชื่อเสียงที่สะสมมานาน อีกทั้ง การผลิตต้องใช้ทุนสูง จำเป็นต้องมีตลาดรองรับแน่นอนก่อน เป็นเหตุผลให้นับถึงปัจจุบัน ต.ทรายมูล และใกล้เคียง ยังเป็นแหล่งผลิตฆ้องแห่งเดียวในประเทศไทย ต่อเดือนจะมีเงินหมุนเวียนซื้อขายฆ้องในชุมชนนี้ไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาท โดยเฉลี่ยช่างแต่ละคนจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน จากรายได้ที่น่าพอใจนี้ บ้านทรายมูลมีอัตราคนหนุ่มสาวไปทำงานในเมืองน้อยมาก

หาญศึก เล่าต่อว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ยอดขายฆ้องไม่เคยตก มีลูกค้าสั่งซื้อตลอดทั้งปี ถ้ายิ่งใกล้เทศกาลงานบุญ อย่างกฐิน ยอดจะเพิ่มมากกว่า 2 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งชุมชนมีผู้ผลิตจำนวนมาก และสินค้าก็แทบจะเหมือนกันหมด จึงเกิดปัญหาขายตัดราคากันเอง ดังนั้น กรมการพัฒนาชุมชน ได้เข้ามาให้ความรู้ และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ผลิตฆ้อง ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาตัดราคา ยังช่วยเสริมศักยภาพระหว่างกันในหมู่ผู้ผลิต เช่น รวมกลุ่มส่งสินค้าพร้อมกัน เพื่อลดต้นทุนขนส่ง เป็นต้น
บุญรักษ์ สีชนะ โชว์ผลงานจากการต่อยอดภูมิปัญญา
ต่อยอดภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่า

สำหรับคนหนุ่มอย่าง “บุญรักษ์ สีชนะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าฆ้อง ในบ้านทรายมูล ได้นำความรู้ และแนวคิดใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจ โดยสินค้าฆ้องของเขาทุกชิ้นจะมีการเขียน หรือสลับอักษร “บ” ลงไปด้วย เพื่อสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำได้ ต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้นัก

นอกจากนั้น บุญรักษ์ ยังขยายประเภทสินค้า โดยสร้างแม่พิมพ์ขึ้นเอง เพื่อทำฆ้องใบเล็กๆ เส้นผ้าศูนย์กลาง แค่ 1 นิ้ว เพื่อทำเป็นพวงกุญแจ ขายเป็นสินค้าที่ระลึก และของชำร่วยงานแต่งงาน ขายชิ้นละ 6-8 บาท (แล้วแต่ปริมาณสั่ง) ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ โดยเป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในประเทศ สร้างรายได้ให้หลักแสนบาทต่อเดือน
ทำเป็นสินค้าที่ระลึก
************************

โทร. 081 999 7301 , 081 967 4291

ขั้นตอนการทำฆ้องโดยสังเขป
1.ตัดแผ่นเหล็ก หรือแผ่นทองเหลืองเป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ
2.เชื่อมขอบรอบวง โดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือแก๊ส
3.ทำปุ่มนูนตรงกลาง โดยขุดดินเป็นหลุม นำแผ่นเหล็กวาง แล้วใช้ค้อนทุบลงไป
4.แต่งเสียง โดยใช้ค้อนเคาะจนได้เสียงที่พอใจ ให้มีเสียงนวล กังวานใส
5.ขัดเงาและลงสี แต่งลวดลายด้วยสีน้ำมัน
6.เจาะรูติดเชือก และแขวนกับขาตั้ง

หมายเหตุ: ขั้นตอนนี้ เป็นวิธีในปัจจุบัน เพื่อให้ผลิตได้เร็วขึ้น เฉลี่ย 3 วันต่อใบ รายละเอียดจะต่างจากวิธีในอดีต ซึ่งมีความยุ่งยากกว่านี้มาก

กำลังโหลดความคิดเห็น