“ผือ”วัชพืชไร้ประโยชน์ ถูกเพิ่มค่าเป็นเสื่อผือคุณสมบัติป้องกันยุงได้ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมกับนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในท้องถิ่นกับหน่วยงานภาครัฐ
อำไพ อาจเอี่ยม ประธานกลุ่มทอเสื่อผือ บ้านกุดกระเสียน ต.เขื่อนใน จ.อุบลราชธานี เล่าว่า การทอเสื่อจาก “ต้นผือ” เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมประจำท้องถิ่น ทำกันเรื่อยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยจะทอเป็นผืนเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น จนประมาณปี 2545 ภาครัฐ โดยกรมการพัฒนาชุมชน เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มสร้างอาชีพ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในตัว มาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากการทำนา รวมถึง พาผู้นำชุมชนอบรมความรู้ต่างๆ เพื่อจะบริหารชุมชนให้เข้มแข็ง
“เมื่อก่อนการทอเสื่อจะทำเป็นผืน ลายดั้งเดิม แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มทำให้การช่วยเหลือจากส่วนกลางถึงชุมชนได้ตรงเป้ามากขึ้น มีการส่งวิทยากรมาช่วยพัฒนา จนมีสินค้าและลวดลายหลากหลาย เช่น กระเป๋า กล่องทิชชู ฯลฯ นอกจากนั้น ยังแนะนำตะไคร้หอมมาแปรรูป เพื่อสอดในเสื่อ เพิ่มคุณสมบัติเป็นเสื่อที่กันยุงได้ด้วย” ประธานกลุ่มเผย และอธิบายต่อว่า
จุดเด่นนอกเหลือจากกันยุงแล้ว ยังอยู่ที่ฝีมือการทอละเอียด ลวดลายสวยงาม กระบวนการผลิตที่ตากแห้งหญ้าผืออย่างดี ไม่เกิดปัญหาขึ้นรา ใช้ได้นานปี ราคาขายประมาณ 200-400 บาทต่อผืน ช่องทางการตลาด จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงชุมชน โดยนำไปขายต่อยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน มียอดขายประมาณ 500 ผืนต่อเดือน สร้างรายได้เสริมให้สมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 50 คน ราวคนละ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงโค ฯลฯ จากความร่วมมือร่วมใจ ในความพยายามเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ดังกล่าว ขณะเดียวกันยังรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบอีสานแท้ๆไว้ได้ ชุมชนแห่งนี้ จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข” ดีเด่น ประจำปี 2550 ที่ผ่านมา
***********************
โทร.080 – 153 - 2374
ขั้นตอนการทอเสื่อผือ |
1 . เก็บต้นผือ ซึ่งเป็นวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น 2. นำมาเหลาเป็นเส้นตรง 3. ตากแดดให้เห็น ประมาณ 2-3 วัน 4. ผ่าเป็นเส้นเล็ก เตรียมพร้อมจะใช้ทอ 5. พรมน้ำเล็กน้อย ให้ผืออ่อนตัว ทอได้ง่ายขึ้น 6. ทอผือบนกี่ โดยใส่ตะไคร้หอมแทรกไปเล็กน้อย เพิ่มคุณสมบัติกันยุง 7. ลวดลายความยากง่ายแล้วแต่ความชำนาญ 8. ระยะเวลาในการทอ ขนาดยาว 2 เมตรใช้เวลาประมาณ 3 วัน |