xs
xsm
sm
md
lg

‘สถาบันอาหาร’เตือนผปก.ปรับตัว เผยอียูใช้กฎเหล็กคุมเข้มสีสังเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สถาบันอาหาร” ชี้ผู้ประกอบการไทยกลุ่มผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ส่งออกตลาดสหภาพยุโรปต้องเตรียมพร้อม และปรับตัวในเชิงรุก หลังสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบ คุมเข้มสีผสมอาหารสังเคราะห์ สารกันเสีย หลังมีการเผยแพร่ผลวิจัย ที่บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าโครงสร้างของสี ที่ส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรปและสารกันเสียกระตุ้นให้เกิดโรคสมาธิสั้นในเด็ก

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการใช้วัตถุเจือปนอาหารมาก แต่ละปีจะมีการศึกษาวิจัยด้านความเสี่ยงและความปลอดภัยของสารชนิดใหม่ๆ รวมถึงทบทวนการใช้สารชนิดเดิมๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2550 นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเซาท์เทมตันประเทศสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่ผลการวิจัยลงในวารสารทางการแพทย์ The Lancet พบว่าการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ร่วมกับ สารโซเดียม เบนโซเอต ซึ่งเป็นสารกันเสียในอาหารประเภทขนมหวาน ลูกกวาด ลูกอม ไอศกรีม น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กอายุระหว่าง 3-9 ปี มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง หรือเป็นโรคสมาธิสั้น เพิ่มขึ้น โรคสมาธิสั้นเป็นโรค ที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก โดยเด็กจะไม่สามารถควบคุมสมาธิ และการเคลื่อนไหวของตนเองได้ และก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ผลการเรียนตกต่ำ แม้ระดับสติปัญญาจะปกติ แต่จะมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ทั้งนี้การเผยแพร่รายงานฉบับนี้ส่งผลให้สำนักความปลอดภัยอาหารแห่ง สหภาพยุโรป นำผลการศึกษาดังกล่าว มาประเมินและพิจารณาอีกครั้งว่าหากเด็กดื่มน้ำผมไม้ที่ผสมสีผสมอาหารสังเคราะห์ร่วมกับการใช้สารกันเสียโซเดียมเบนโซเอตแล้ว ก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้นหรือไม่ คาดว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สหภาพยุโรป จะมีการปรับเปลี่ยนกฎ ระเบียบวัตถุเจือปนอาหาร และสีผสมอาหาร ที่อนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งที่ผลิตในสหภาพยุโรปเอง และนำเข้าอย่างแน่นอน โดยอาจเพิ่มความเข้มงวดชนิดของสีที่อนุญาตให้ใช้และจำกัดปริมาณการใช้ให้น้อยลง หรือจำกัดการใช้สีบางชนิด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

“ผู้ประกอบการอาหารของไทยที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ผู้ผลิตอาหารกลุ่มเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ลูกอม ลูกกวาด ขนมหวาน เค้ก ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมหวานแบบไทยๆ แยม เยลลี่ โดยเฉพาะอาหารที่มีสีเหลือง ส้ม แดง ที่ผลิตเพื่อส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องปรุงแต่งสีสันให้สวยงาม ดึงดูดผู้บริโภคและผู้ผลิตส่วนใหญ่มีความต้องการให้เก็บรักษาไว้ได้นาน จึงต้องมีการผสมสีสังเคราะห์กลุ่มดังกล่าวร่วมกับสารกันเสีย เช่น โซเดียมเบนโซเอต โซเดียมซอร์เบต เป็นต้น” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น