สสว. ร่วมกับ มจธ. และ สนช. จัดแสดงพร้อมประมูลผลงานออกแบบของนิสิต นักศึกษา หวังผู้ประกอบการ SMEs นำไปต่อยอดทางธุรกิจ โดยมีผลงานจัดแสดงกว่า 35 ชิ้นงาน จาก 9 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของเมืองไทย
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด “งานประมูลผลงานนวัตกรรมและการออกแบบ ครั้งที่ 3”
(3rd Bidding Innovation by Design ; BID) ว่า การออกแบบเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสสว. ให้การสนับสนุนทั้งด้านการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และได้จัดตั้งศูนย์บริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ iSMEs ขึ้น เพื่อให้บริการด้านคำปรึกษา แนะนำ และให้บริการด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐาน SMEs ไทย แข่งขันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สสว. ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการให้บริการดังกล่าว โดยที่ผ่านมา สสว. สนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในโครงการต่างๆ ซึ่งจะเน้นทางด้านการนำผลงานวิจัยพัฒนาทางเทคโนโลยีมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดการพัฒนาด้านออกแบบของกลุ่มนักศึกษา เชื่อมโยงกับการช่วยเหลือ SMEs สสว. ร่วมกับ มจธ.และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดงานประมูลผลงานนวัตกรรมและการออกแบบ ครั้งที่ 3 ซึ่งงานประมูลผลงานนวัตกรรมและการออกแบบครั้งนี้ นับเป็นการสร้างเครือข่ายทางด้านนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษา อีกทั้งผลงานยังได้รับการนำเสนอแก่ภาคเอกชน นักลงทุน ภาคการผลิต หรือผู้ที่กำลังมีความคิดริเริ่มจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ อีกทั้งการนำเสนอผลงานครั้งนี้ ยังจะนำไปสู่การเจรจาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นการต่อยอดผลงานนวัตกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงอีกด้วย
ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า นอกจากการให้การสนับสนุนด้านสถานที่จัดงานแล้ว สสว.ยังมีเงินกองทุนต่างๆ ที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เช่น โครงการสนับสนุน SMEs ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Fund) ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อใช้เป็นเงินสนับสนุนในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการซื้อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อเผยแพร่ผลงานนิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาในระดับชั้นปีสุดท้ายสาขาวิชาออกแบบอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะสามารถมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีความเป็นนวัตกรรมของตนเอง แทนการนำเข้าหรือลอกเลียนแบบ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการจัดงานในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมงาน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมผลงานที่มาแสดงและประมูลกว่า 35 ชิ้นงาน
รศ.ดร.ไกรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมา มีผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายรายการ เช่น การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ใบตองของไทย เฟอร์นิเจอร์สำหรับช่างตัดเสื้อ เครื่องเล่นบนชายหาดแนวคิดจากจักรยาน ชุดเตือนภัยสำหรับนักท่องเที่ยวเดินป่า เครื่องแปลงโน้ตเพลงจากเสียงกีตาร์ ชุดสื่อสารการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฯลฯ ซึ่ง มจธ.สามารถเจรจาอนุญาตให้บริษัทเอกชน ใช้สิทธิในการนำผลงานออกแบบชุดเรียนรู้การปลูกต้นไม้สำหรับเด็ก ในชื่อ Let’s Plant ไปผลิตในเชิงพาณิชย์และออกสู่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว