หากเอ่ยชื่อการแข่งขันน้องใหม่ Robot Design Contest 2008 หรือ RDC2008 เชื่อว่ายังเป็นที่รู้จักในสาธารณะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการแข่งขันประเภทอื่น เช่น หุ่นยนต์กู้ภัย (World Robocup) และหุ่นยนต์เตะฟุตบอล (Robocup Soccer Small Size League) ที่จัดการแข่งขันมายาวนานและสร้างสมชื่อเสียงในหมู่นักเรียนนักศึกษาได้มากกว่า
RDC2008 เป็นการแข่งขันที่เกิดจากความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันขึ้น เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์หลักของ RDC นั้นเราอาจต้องย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน International Design Contest RoBoCon 2007 (IDC RoBoCon 2007)
ก่อนหน้านี้ IDC จะจัดการแข่งขันเฉพาะใน 7 ประเทศที่มีความสามารถทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์สูง ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส บราซิล และเกาหลีใต้ สาเหตุหลักที่การแข่งขัน IDC 2007 เลือกมาจัดที่ประเทศไทยนั้นเป็นเพราะเหล่านิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ของไทยไปสร้างชื่อเสียงไว้ในระดับโลกมากมาย ทั้งจากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์เตะฟุตบอล ฯลฯ จึงทำให้ผู้จัดการแข่งขัน IDC หันมาจับตามองประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ในลำดับต้น ๆ ของโลกด้วยอีกรายหนึ่ง และนำมาซึ่งการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2007 ในที่สุด
ความสำเร็จและเสียงชื่นชมที่ดังกระหึ่มจากการจัดงาน IDC 2007 บนพื้นที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเป็นบทเริ่มต้นของการจัดการแข่งขัน RDC 2008 ในปีนี้ของประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศจำนวน 4 คนบินตรงเข้าร่วมการแข่งขัน IDC 2008 ที่ประเทศบราซิล ในเดือนกรกฎาคมนี้
ชื่อของ วรรณเพ็ญ แซ่เปี่ยน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาณัตน์ จะรคร (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) สุรพงษ์ การะเกด (สถาบันเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น) และณัฐพล นาคราช (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) เป็น 4 นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วม RDC 2008 ร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 40 ชีวิต และเป็นเขาและเธอ แค่ 4 คนที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค รวมถึงออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถแก้ไขโจทย์ของการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดจนสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้มาได้
โจ - อาณัตน์ จะรคร นักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในสมาชิกในทีมแชมป์กล่าวว่า "ผมประทับใจการแข่งขันครั้งนี้มาก ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชอบทางด้านหุ่นยนต์เป็นทุนเดิม และผมมองว่า หุ่นยนต์เป็นศาสตร์ที่กว้างมาก เราสามารถนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้แม้จะเรียนมาคนละสาขา มันจึงเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย นอกจากนั้น รูปแบบการแข่งขันยังอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการทำงานในอนาคตครับ"
ทั้งนี้ คอนเซ็ปต์ในการทำงานร่วมกันของทีมชนะเลิศคือ การรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมทีมแล้วนำมาทดลอง ถ้าทดลองแล้วใช้ได้ ก็จะนำไปประยุกต์ใช้กับการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ซึ่งข้อดีคือได้ทดลองทำจริง และไม่ต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไปกับการถกเถียงกัน
ด้าน พล - ณัฐพล นาคราช นักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ เปิดเผยว่า "การเข้าร่วม RDC 2008 ครั้งนี้ทำให้ผมได้ความรู้ในเชิงการออกแบบมากขึ้น ได้เห็นไอเดียแปลก ๆ จากเพื่อนร่วมทีม เช่น โจ เพราะเขามีโปรเจ็คอยู่กับทางฟีโบ้ของ มจธ. ด้วย ทำให้ไอเดียของเขาค่อนข้างแหวกแนว นอกจากนี้ยังทำให้ผมมีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น ส่วนที่ประทับใจที่สุดคงเป็นเรื่องของมิตรภาพที่แต่ละคนไม่มีการแบ่งแยกสถาบัน มีแต่การช่วยเหลือกัน ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 1.5 เดือนที่ได้ร่วมงาน จึงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของการแข่งขันครั้งนี้ครับ"
ฟาง - วรรณเพ็ญ แซ่เปี่ยน นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยความรู้สึกหลังจากการแข่งขันจบลงว่า "ทีมของเราเน้นการนำความรู้ของเพื่อน ๆ แต่ละคนมาต่อยอด เพราะพวกเรามาจากคนละสถาบันกัน เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ซึ่งนอกจากจะต้องปรับตัวเข้าหากันแล้ว เรายังต้องดึงจุดเด่นของแต่ละคนมาเสริมให้หุ่นยนต์ของทีมมีความสามารถที่สูงขึ้นด้วยค่ะ"
สุดท้ายกับ พงษ์ - สุรพงษ์ การะเกด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น ที่เปิดเผยว่า "ตอนแรกตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด ไม่ได้หวังตำแหน่งแชมป์ แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมแล้วพบว่า เป็นกิจกรรมที่ดี ช่วยให้เด็กมีโอกาสสร้างสรรค์หุ่นยนต์ในแบบที่อยากจะทำ ความรู้ที่ได้จากการอบรมของคณะผู้จัดงานเป็นความรู้พื้นฐานในการพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลากหลายช่องทาง และทำให้รู้สึกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ไม่ยากอย่างที่คิด ขอแค่เราได้ลงมือทำครับ"
"ส่วนการเตรียมตัวในการเข้าร่วมการแข่งขันที่บราซิลก็คงเป็นเรื่องภาษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสาร แล้วก็วัฒนธรรมของเพื่อนชาวต่างชาติครับ"
ไม่เสมอไปที่การแข่งขันพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ประเภทหุ่นยนต์จะจบลงด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้มและมิตรภาพ แต่สิ่งที่ได้รับฟังจากการแข่งขัน RDC 2008 นี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องดังกล่าว
ผศ.ดร.มานพ วงษ์สายสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า "การแข่งขัน RDC2008 ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่ช่วยส่งเสริมนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ผู้สนใจพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามัคคี ไม่มีการแบ่งฝักฝ่าย หรือแบ่งสถาบัน เพราะเราถือว่า การทำงานในสาขาอาชีพวิศวกรนั้น ต้องทำงานกันเป็นทีม การแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ๆ และสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีมากทีเดียวครับ"