“มิ่งขวัญ” จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งพัฒนาโอทอปสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ โต 12.5% ชี้การพัฒนาต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ การดูแลทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งออก
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าโอทอปไทย โดยวางยุทธศาสตร์ให้โอทอปเป็นส่วนหนึ่งในการหารายได้แก่ประเทศ ด้วยการยกระดับผู้ผลิตสินค้าโอทอปสามารถก้าวเป็นผู้ส่งออกไปตลาดโลกได้ เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึง ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ เชื่อว่า ส่งออกโอทอปปีนี้ (2551) ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 12.5% และอาจเพิ่มมากถึงระดับ 15%
รองนายกฯ เผยต่อว่า การพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจโอทอป-เอสเอ็มอีมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ที่สำคัญทุกหน่วยงานจะต้องทำงานให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น บทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการเป็นหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งได้มอบให้กับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ดูแล โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ และดูแลให้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์
ส่วนตัวเอง จะดูแลกรมส่งเสริมการส่งออกซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ หลังจากอบรมให้ความรู้จนมีศักยภาพแล้ว ก็ต้องหาตลาดต่างประเทศให้ ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกมีโครงการคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปที่มีศักยภาพของไทย โดยสินค้าโอทอปที่มีศักยภาพของไทยมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหาร สปา อู่ซ่อมรถ ทางกรมฯ ได้จัดหาตลาดต่างประเทศและพันธมิตรในต่างประเทศ สำหรับตลาดที่มุ่งเน้นก็จะเป็นในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสอดคล้องกันทางวัฒนธรรม พื้นทีใกล้กับไทย สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยด้วย
นอกจากการสร้างผู้ประกอบแล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังมีนโยบายส่งเสริมสินค้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะสนับสนุนให้มีการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสินค้าที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เช่น หมูย่างเมืองตรัง กาแฟดอยตุง ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะผลักดันให้มีการจดคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้นว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะหาที่ใดไม่ได้
“ข้อดีในการจดคุ้มครองจีไอจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าใดเป็นสินค้าของแท้จากแหล่งภูมิศาสตร์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สามารถใช้เป็นแบรนด์ให้กับสินค้าของชุมชน และเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้แอบอ้างนำชื่อเหล่านี้ไปใช้ จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ดีเสียประโยชน์ และมีโอกาสที่สินค้าเหล่านี้จะสูญเสียความน่าเชื่อถือลง แต่ผู้ผลิตจะต้องมีมาตรการที่จะควบคุมสินค้าให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ในคำขอที่ได้รับการจดทะเบียน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย” นายมิ่งขวัญ กล่าว
ทั้งนี้ สถิติการขอจดคุ้มครองจีไอในเดือนเมษายน 2551 ได้มีการเปิดตัวสัญญาเครื่องหมายตราสัญลักษณ์จีไอ ไปเมื่อวันที่คล้ายวันสถาปนากรมทรัพย์สินทางปัญญาครบรอบ 16 ปี พบว่า มีสินค้าจำนวน 8 สินค้า จากผู้ประกอบการ 15 ราย ที่ยื่นขอจดแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท สับปะรดศรีราชา และไวน์ที่ราบสูงภูเรือ