งานประดิษฐ์ สำหรับคนที่มีฝีมือ ถือว่าเป็นงานที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืนได้ แม้การเริ่มต้น จะควบคู่ไปกับงานประจำก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับผู้ที่มีใจรักในงานฝีมือ เฉกเช่น “อาจารย์กตภรณ์ พิบูลธรรมนนท์” ที่ทำงานในตำแหน่งช่างศิลป์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ประดิษฐ์ “นกสำลี” จนก่อเกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
โดย อาจารย์กตภรณ์ หรือที่รู้จักกันทั่วๆ ไปว่า อ.น้อย เล่าว่า ตนเองมีอาชีพหลักคือ รับราชการในตำแหน่ง ช่างศิลป์ อยู่ที่สำนักฯ ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นงานที่ได้คลุกคลีกับงานศิลปะ และงานฝีมือมาโดยตลอด แต่ความคิดที่หันมาสนใจทำเป็นอาชีพเสริมอย่างจริงจังนั้น เกิดขึ้นเมื่อลูกชายคนเดียวสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบได้ โดยหวังว่าจะมีรายได้เสริมไว้เป็นทุนส่งลูกให้เรียนสูงๆ ต่อไป เริ่มจากการทำการ์ดที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพของสมเด็จย่า ที่พระองค์ท่านทรงนำดอกไม้แห้งประดิษฐ์เป็นการ์ดได้อย่างงดงามยิ่ง
จากแรงบันดาลใจตรงจุดนี้เอง ทำให้ อ.น้อย คิดเริ่มต้นจากกระดาษสา นำมาประดิดประดอย เป็นดอกหญ้าริมทุ่งนา เป็นดอกไม้ป่าเกสรทอง ดอกไม้ในความทรงจำ เมื่อครั้งวัยเด็ก อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาจารย์ งานประดิษฐ์ดอกไม้ดังกล่าวมีความสวยงามจนได้รับคัดสรรให้เป็นสินค้าโอทอปของเขตห้วยขวาง ส่งผลให้มีออเดอร์เข้ามาอย่างตอ่เนื่อง จากงานการ์ดและผลิตภัณฑ์ดอกไม้อยู่ตัว ทำให้มีกำลังใจคิดประดิษฐ์งานอื่นๆ ขึ้นมาอีก เพื่อนำมาต่อยอดกับงานดอกไม้ สุดท้ายจึงมาลงตัวที่ “งานประดิษฐ์รูปสัตว์ปีกต่างๆ” อาทิผีเสื้อ แมลงปอและนกสำลี จากการที่เคยเรียนการทำนกสำลีขั้นพื้นฐานมา และนำมาฝึกฝนด้วยตนเองจนมีความชำนาญและได้ผลงานที่มากมาย
การทำนกจากสำลี โดยเริ่มจากการเกลาโฟมจากรูปสามเหลี่ยม เพื่อทำเป็นโครงของตัวนก และใช้กระดาษทรายมาขัดเพื่อให้โฟมเรียบ เริ่มใส่ปากนก ทำจากไม้เนื้ออ่อน (ไม้บัลซ่า) ทาปากสีแดงด้วยสีน้ำมันทาบ้าน หรือน้ำยาทาเล็บสีแดงก็ได้ ซึ่งจะแห้งไวกว่า ต่อมานำสำลีมาตัดแล้วย้อมด้วยสีบาติก ใช้กาวลาเท็กส์มาผสมน้ำแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดผสมข้นและชนิดผสมใส ต่อมาใช้สำลีที่ย้อมสีของนกชนิดต่างๆ ลงบนตัวนกตามชนิดนั้นๆ ทีละส่วน ความละเอียดในการไล้สำลีให้เหมือนขนนกที่พริ้วไหว โดยการใช้พู่กันปากแบนจุ่มกาวชนิดใสไล้ ทำให้ขนสำลีดูเหมือนขนนกที่อ่อนนุ่มเหมือนจริงใส่ขานกด้วยลวด ก็จะได้นกสำลีที่สำเร็จสมบูรณ์ด้วยความภาคภูมิใจในชิ้นงาน เป็นกชนิดต่างๆ เช่น นกแก้ว, นก Love Bird, นกเจ้าฟ้าสิรินธร เป็นต้น
“หลังจากที่เราสามารถประดิษฐ์นกสำลีออกมาได้อย่างงดงามแล้ว ก็ต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามาเสริมด้วย เพื่อให้นกดูมีชีวิตชีวามีความเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับคำแนะนำ จาก อ.นายมนัส คงรอด ที่เรียนปริญญาตรี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีฝีมือด้านการออกแบบงานศิลป์มาช่วยออกแบบในเรื่องของส่วนประกอบให้เหมือนการสร้างฉากให้นกมีความเหมือนธรรมชาติ เช่น นกเกาะกิ่งไม้, โมบายนกจากหญ้าแฝก, นกเกาะต้นหญ้า, รังนกกระจาบจากใยบวบแขวนอยู่บนกิ่งไม้, นกนอนรังฟักไข่ หรือแม้กระทั่งการสร้างบ้านนก คอนโดนกขึ้นมาทำให้มีสินค้า ที่มีรูปแบบหลากหลายเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก”
แม้ว่างานนกสำลีจะเป็นงานที่ต้องอาศัยฝีมือ และความตั้งใจจริง ซึ่งขั้นตอนในการทำแต่ละตัว ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จะทำนกตัวใหญ่ได้ประมาณ 10 ตัว/วัน โดยขณะนี้กำลังการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวบ้าน จ.กาญจนบุรี โดยมีอาจารย์ณัฐธัญชนิต ควบคุมดูแลการผลิตทุกขั้นตอน และกลุ่มลูกศิษย์ที่มาเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.วัดสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ซึ่ง อ.น้อย สอนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น
“ปัจจุบันนับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสในช่วงบั้นปลายของชีวิต ที่ได้ร่วมงานกับ ดร.ธัญญรัตน์ ชีวะเกตุ เจ้าของร้าน Siam Stone Story ณ ศูนย์การเรียนรู้ อาคารจตุรัส จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นวิทยากร/อาจารย์ เพื่อสอนเผยแพร่ความรู้หัตถศิลป์ ที่มีอยู่จากการสะสมประสบการณ์มาตลอดชีวิตด้วยใจรัก เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ”
***สนใจติดต่อ 08-1641-9677, 08-9456-1739 ***