ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ถึงยุคสูญสิ้นกิจการของคนท้องถิ่นเมืองเชียงใหม่ที่ต้องหลุดมือไปอยู่ในความครอบครองของนักธุรกิจเมืองกรุงที่มีสายป่านที่ยาวกว่ามากวาดต้อนซื้อกิจการและที่ดินที่คนเมืองต้องขายทิ้ง แม้แต่ร้านหนังสือที่เปิดมา เกือบครึ่งศตวรรษ ยังไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งห้างสรรพสินค้ารายสุดท้ายของเชียงใหม่ก็ต้องถูกขายทอดตลาดไปในที่สุด
นางสาว จ้อย จิตติเดชารักษ์ กรรมการผู้จัดการสุริวงศ์ บุ๊คเซนเตอร์เคยให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการว่า ยอมรับ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ร้าน สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์สามารถผ่านพ้นช่วงการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนั้นมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะการปรับตัว หรือความอดทนของเธอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนเชียงใหม่เป็นคนที่ใฝ่รู้ รักที่จะศึกษาหาความรู้จากการอ่าน ความต้องการหนังสือจึงไม่มีวันหมด
"ถ้าคนยังรักการอ่าน ธุรกิจร้านหนังสือไม่มีวันตาย และเราก็ภูมิใจว่าคนเชียงใหม่ยังเห็นว่าธุรกิจของคนเชียงใหม่ควรจะรักษาไว้"
ในแง่ธุรกิจ สุริวงศ์ฯก็ไม่แตกต่างจากกิจการอื่นๆ ในท้องถิ่น ที่เมื่อความเจริญย่างก้าวเข้ามา สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยน แปลงไป ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้การเข้ามาของแฟรนไชส์และสาขาของร้านหนังสือใหญ่ๆ จากกรุงเทพฯ เช่น ซี-เอ็ด บุ๊คเซ็นเตอร์ หรือดอกหญ้า ที่มา พร้อมกับการเกิดขึ้นของกาดสวนแก้วเมื่อเกือบ20 ปีก่อน มีผลต่อยอดขายของสุริวงศ์ ฯ เป็นอย่างยิ่ง
"ยอดขายเราหายไปเลยครึ่งต่อครึ่ง"
แต่เพื่อความอยู่รอดสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ได้มีการซื้อที่ดินข้าง เคียงเพิ่มมาอีก 3 แปลง เพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มพื้นที่ให้บริการเป็น 1,800 ตารางเมตร เพื่อกันไว้เป็นที่จอดรถประมาณ 160 คัน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท
ในท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเกือบทุกด้าน ทำให้ในที่สุดผู้บริหารของสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ต้องตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดให้แก่กลุ่มเบียร์ช้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แหล่งข่าวจากวงการค้าที่ดินในเชียงใหม่กล่าวว่า โดยราคาประมินของที่ดินทั้งหมดของสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ ราคาประเมินของกรมที่ดินในถนนศรีดอนไชยประมาณตารางวาละ 2 แสนบาท ทำให้มีการประเมินกันว่าราคาซื้อขายของสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์จะอยู่ราว ๆ 250 – 300 ล้านบาท
นอกจากที่ดินและตัวอาคารของสุริวงศ์บุ๊ค เซนเตอร์ แล้วกลุ่มนายเจริญกำลังติดต่อทาบทามซื้อที่ดินด้านข้างซึ่งเป็นของโรงพยาบาลเสียมภักดี เพื่อเชื่อมต่อให้เป็นที่ดินผืนเดียวกันทั้งหมดอีกด้วย
“ตอนนี้มีการแจ้งว่าทางผู้ซื้อได้กำหนดให้สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ เคลียร์พื้นที่ทั้งหมดพร้อมทรัพย์สินให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 5 เดือนนี้ และหากซื้อที่ดินของโรงพยาบาลได้ก็จะมีการเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นที่ดินผืนเดียวกัน” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านห้างสรรพสิค้าสีสวนพลาซ่า ย่านถนนช้างคลานที่ถือเป็นห้างสรรพสิค้าในมือคนท้องถิ่นรายสุดท้ายที่ไม่อาจยืนต้านกระแสทุนจากส่วนกลางได้ ในที่สุดต้องถูกยึดขายทอดตลาดไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2551 สีสวนพลาซ่าจำต้องถูกยึดและกรมบังคับคดีขายทอดตลาดไปในราคา 220 ล้านบาทให้แก่กลุ่มนางเกียรติ
ห้างสรรพสินค้าสีสวน พลาซ่า เปิดให้ บริการในปี 2530 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,000 ตารางเมตร ถือเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ขณะนั้น สุรชัย เหลืองไชยรัตน์ กรรมการผู้จัดการสีสวนพลาซ่ามองว่า การจะทำให้สีสวน พลาซ่า ประสบความสำเร็จได้ จะต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครให้แก่คนในท้องถิ่น เขาจึงจับตลาดกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการนำเสนอสินค้าแฟชั่น มีการนำเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ พร้อมกับการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
"ช่วง 3-4 ปีแรก เราขายดีมาก สมัยนั้นถ้าเป็นกรุงเทพฯ กลุ่มวัยรุ่นต้องไปสยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ หรือไปไดมารู แต่ถ้าเชียงใหม่ต้องมาที่สีสวน พลาซ่า"
แต่สุรชัยก็ชื่นชมกับความสำเร็จของสีสวน พลาซ่า ได้เพียง 5-6 ปี ก็ต้องกลับมานั่งคิดหนักอีกครั้ง เมื่อสุชัย เก่งการค้า เจ้าของหินสวยน้ำใส จากระยอง มีโครงการขึ้นมาเปิดกาดสวนแก้ว ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าครบวงจรบนถนนห้วยแก้ว ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสีสวน พลาซ่า โดยตรง
เมื่อกาดสวนแก้วเปิดดำเนินการ ในปี 2537 ตัวเลขของคนที่มาเดินในห้างสีสวน พลาซ่าของสุรชัยลดลงอย่างทันตาเห็นเขาใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงตัดสินใจว่าต้องลงไปแข่งขันด้วย โดยวางแผนจะขยายพื้นที่ ของห้างสีสวน พลาซ่า จากที่เคยใช้อยู่เพียง 3 ไร่ ให้ครบ 10 ไร่ โดยได้เริ่มลงทุนก่อสร้างฐานรากของตัวอาคาร ซึ่งต้องใช้เงินถึง 120 ล้านบาท
เมื่อแผนการขยายพื้นที่เพื่อสู้กับกาดสวนแก้วต้องชะงักลง สุรชัยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้ง จากที่เคยจะกระโจนเข้าต่อสู้ด้วยในครั้งแรก เปลี่ยนเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โครงการส่วนขยายที่ได้ลงทุนไปแล้วถึง 120 ล้านบาท ถูกตัดบัญชีกลายเป็นศูนย์ และด้วยความที่สีสวนพลาซ่ามีการบริหารในเชิงครอบครัวมากเกินไป ในที่สุดก็ทนกระแสของทุนบวกกับค่ายโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ที่รุกคืบเข้ามาค่ายแล้วค่ายเหล่าจนเต็มพื้นที่เมืองเชียงใหม่ จนสุดท้าย “เหลืองไชยรัตน์” จำเป็นต้องปล่อยที่ดินและกิจการสุดท้ายของตระกูลไปในที่สุด