xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง 3 มาตรการต่อรัฐบาลใหม่ ช่วยเอสเอ็มอีรับมือวิกฤติสหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลกระทบวิกฤติแฮมเบอเกอร์ที่เกิดจากซับไพร์มในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่อเค้ารุนแรง เอสเอ็มอีแบงก์ออกโรงเตรียมข้อเสนอ 3 มาตราการต่อรัฐบาลใหม่ ทั้งอุดหนุน ลดดอกเบี้ย-เว้นภาษีเอสเอ็มอีใหม่ ช่วยระดับรากหญ้ารับมือฝ่าวิกฤติ

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า จากผลกระทบที่มาจากวิกฤติการณ์แฮมเบอเกอร์ที่เกิดจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะลุกลามและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะต่อไป และจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ปัญหาเร่งด่วนที่ทางธนาคาร เล็งเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

โดยธนาคารได้เตรียมข้อเสนอไว้ 3 มาตรการ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารพิจารณาเสนอขอความสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วยมาตรการด้านอัตราดอกเบี้ย โดยต้องการให้รัฐบาลพิจารณาชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตรา 1-2% ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าได้ในอัตราที่ลดต่ำกว่าปรกติ

"ในภาพรวมผมอยากเห็นช่วยกันลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง แค่นั้นก็ได้อานิสงส์เยอะแล้ว โดยหากบอร์ดเห็นด้วยและรัฐบาลให้ผมก็จะได้มาลดดอกเบี้ยของธนาคารลงแรงๆ ทีเดียว 0.5% เลย แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนผมก็ทำไม่ได้ เพราะลดไปทีหนึ่งก็หายไปหลายล้าน ขอแค่ชดเชยให้ประมาณ 1-2% ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย เพราะพอสิ้นปีแบงก์ก็แทงเป็นขาดทุน แล้วก็เอาไปเข้า PSA" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า มาตรการที่สอง จะขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นไม่เก็บภาษีนิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วง 3-5 ปีแรก ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และมาตรการสุดท้าย เป็นมาตรการที่ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต่างๆ นำร่องการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าระดับกลางลงมาถึงระดับล่าง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี พวกบรรดาธนาคารพาณิชย์จะไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ในส่วนนี้

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะทำงานกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (กองทุน 5 พันล้านบาท) มีแนวคิดที่จะให้โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีที่สมัครและผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการแล้ว จากที่เป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ย้ายมาอยู่กับเอสเอ็มอีแบงก์นั้น ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าว หากระดับนโยบายมีการสั่งการลงมาก็พร้อมจะทำ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะลำพังเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์ที่มีอยู่ก็ดูแลไม่ไหวแล้ว ซึ่งธนาคารพาณิชย์ควรจะดูแลลูกค้าของตัวเองด้วย เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันน่าจะดูแลได้ดีกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น