xs
xsm
sm
md
lg

‘หยกมณี’ขนมโบราณเพิ่มค่า จากลูกชาวนาสู่พ่อค้าพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชิดชื่น ศรีสามแคว และนินทร์ ซาเฟื้อย สองสามีภรรยา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หากรู้จักคำว่า “พอเพียง” ก็มีความสุขในทุกธุรกิจได้ไม่ยาก แม้แต่ร้านขายขนมโบราณอย่าง “ขนมหยกมณี” ตามตลาดนัด ก็ยึดหลักปรัชญาดังกล่าวเช่นกัน ที่ไม่มุ่งเน้นกำไรจนมากเกินไป ขอเพียงให้ตนเองอยู่ได้ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว และลูกค้ามีความสุขเมื่อได้รับประทานขนมของตนเองก็มีความสุขแล้ว
ขนมหยกมณีทำสำเร็จ เตรียมตักขาย
นายชิดชื่น ศรีสามแคว หรือ อ๊อด เจ้าของธุรกิจขนมโบราณนานาชนิด แต่ขนมที่ขึ้นชื่อคือ “หยกมณี” ที่หารับประทานได้ยากในสมัยนี้ แต่หากได้ลิ้มลองจะต้องติดใจ ซึ่งการที่นายชิดชื่น คิดที่จะทำขนมโบราณ เพื่อนำมาจำหน่ายนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดมาจากความพยายาม และประสบการณ์ล้วนๆ โดยใช้ความรู้จากการที่เคยเป็นลูกจ้างร้านขนมไทย มาระยะหนึ่ง แต่ในใจลึกๆ แล้ว ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองแต่ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่ไปทำลายอีกชีวิตหนึ่ง คือ การฆ่าสัตว์ ดังนั้นจึงเริ่มจากการซื้อหนังสือที่สอนวิธีทำขนมไทย รวมถึงต่อยอดในเรื่องของสูตรด้วย เพื่อเพิ่มความอร่อย และโดนใจผู้บริโภค ซึ่งกว่าจะมาลงตัวในรสชาติปัจจุบัน ชิดชื่น ต้องเสียเงินในการทำทิ้ง เพื่อการลองผิดลองถูก ไปกว่า 20,000 บาท
นำไปคลุกมะพร้าวขูดฝอย เพิ่มความอร่อย
“ถึงแม้ว่า เราจะได้สูตรมาจากหนังสือที่ซื้อมาแล้ว แต่เมื่อได้ทดลองทำขนมหยกมณีจริงๆ ขนมที่ออกมายังไม่เหมือนขนมไทยโบราณแบบที่เคยกินทั้งความหอม มัน นุ่ม เหนียว ยังไม่ได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะได้ขนมหยกมณีตามที่ต้องการ โดยขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยาก และใช้เวลา โดยกวนสาคูพร้อมเครื่องที่ผสมลงไป เพิ่มรสชาติ และความกรุบกรอบ คือ แห้ว เนื้อมะพร้าวเผา ข้าวบาร์เล่ย์ นานถึงชั่วโมงครึ่ง (แบบไม่หยุด) แต่หากไม่ใส่เครื่อง จะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ส่วนขนมอื่นๆ เช่น ขนมสอดไส้ ขนมเหนียว และถั่วแปบ ก็ต้องใช้เวลาในการทำเช่นกัน”

ธุรกิจขนมโบราณ ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่ทำกันเองในครอบครัว แต่ก็เป็นธุรกิจที่สร้างความสุขให้คู่สามีภรรยา (นินทร์ ซาเฟื้อย) ที่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ทำขนมขายโดยที่ไม่มุ่งหวังกำไรมากนัก เพียงต้องการให้ลูกค้าได้รับประทานขนมที่อร่อย และหาทานยาก อย่างหยกมณี ที่คนในวัยสูงอายุที่เคยรับประทานขนมหยกมณี ในสมัยก่อน บอกว่า รสชาติเหมือนเดิม แต่อร่อยขึ้น เพราะมีเครื่องที่ผสมลงไปด้วย


เป็นเวลากว่า 4 ปี แล้วที่ผมและภรรยา เข้านอนตอนเวลา 19.00 น. และตื่นประมาณ 23.00 น. มาเตรียมขนมโบราณนานาชนิด เพื่อออกจำหน่ายให้ทันตลาดนัดช่วงเช้าตามสถานที่ต่างๆ เพราะหากนำขนมไปขายเกินเวลา 06.00 น. จะไม่มีแผงให้ขายของ ทำให้ขนมที่ทำขึ้นในวันนั้นต้องทิ้ง เพราะไม่มีที่ขาย แต่การใช้ชีวิต เช่นนี้ เรา 2 คนก็มีความสุข และภูมิใจสามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ ที่จากลูกชาวนา ได้กลายมาเป็นพ่อค้า และสามารถมีรายได้หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งปรัชญาในการค้าขายของเรา คือ เราขายของ แบบไม่ต้องร่ำรวยมาก มีเงินในบัญชีไม่มาก แต่เราก็มีความสุข”

ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ คุณอ๊อด บอกว่า ขายขนมพร้อมความจริงใจให้กับลูกค้า เนื่องจากเป็นขนมโบราณที่นับวันคนรู้น้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นจะให้ลูกค้าชิมขนมหยกมณีก่อนซื้อไปรับประทาน โดยขายในราคากล่องละ 20 บาท/10 ชิ้น ซึ่งราคาดังกล่าวไม่ได้ปรับขึ้น แม้ราคาวัตถุดิบจะขึ้นทุกอย่างก็ตาม และตั้งใจจะขายในราคานี้ต่อไปอีก 10 ปี ส่วนแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต คุณอ๊อด ต้องการที่มีร้านเป็นของตัวเองในตลาด ซึ่งจะสามารถนำขนมไปขายได้ และให้ลูกค้าเห็นขั้นตอนการทำขนมโบราณได้อย่างชัดเจน

ตลาดนัดที่จำหน่าย ‘ขนมหยกมณี’ ในแต่ละวัน

- วันจันทร์ ตลาดนัดสโมสรการท่า (ดอนเมือง)
- วันอังคาร ตลาดนัดสหกรณ์ออมทรัพย์ ม.เกษตรศาสตร์
- วันพุธ ตลาดนัดกรมป่าไม้
- วันศุกร์ กรมประมง
- *** วันพฤหัสบดี, วันเสาร์ และวันอาทิตย์ หยุดขาย***


***สนใจติดต่อ 08-1684-8982, 08-1564-8840***
กำลังโหลดความคิดเห็น