xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA เผยภาพตะกอนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย จากดาวเทียม THEOS – 2 ที่กำลังได้รับผลกระทบจากสารพิษในน้ำ และประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เผยภาพถ่ายความหนาแน่นของตะกอนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากดาวเทียม THEOS-2 สืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2567 จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดดินโคลนถล่มจำนวนมาก 

อีกทั้งมีการพบการทำเหมืองแร่บริเวณต้นน้ำกก และต้นน้ำสาย ส่งผลให้มีสารพิษปนเปื้อนในบริเวณแม่น้ำดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศหลายด้าน เช่น เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยพื้นที่ศึกษานี้อยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นลำน้ำที่น้ำแม่สายไหลมารวมกับแม่น้ำรวก และไหลลงสู่แม่น้ำโขง


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำข้อมูลภาพถ่ายจาก ดาวเทียม THEOS - 2 รายละเอียดสูง (0.5 เมตร) มาวิเคราะห์เพื่อหาความหนาแน่นของตะกอนแขวนลอยบริเวณดังกล่าว โดยใช้ดัชนี Normalized difference vegetation index (NDVI) เพื่อจำแนกพื้นที่ลำน้ำ และใช้ดัชนี Normalized Difference Suspended Sediment Index (NDSSI) เพื่อหาค่าสะท้อนของตะกอนแขวนลอย ร่วมกับสมการ Total Suspended Solids (TSS) เพื่อแสดงถึงบริเวณที่มีความหนาแน่นของตะกอนแขวนลอย มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) พบว่า แม่น้ำรวกมีความหนานแน่นอยู่ที่ 40 – 60 mg/L ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งมีความหนาแน่นอยู่ที่ 20 – 40 mg/L


โดยการทราบความหนาแน่นของตะกอนในลำน้ำธรรมชาติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่น วิเคราะห์การสะสมตัวของตะกอน (Sedimentation Rate) เพื่อพยากรณ์การสะสมตะกอนในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือบริเวณปากแม่น้ำ หรือใช้ในแบบจำลองทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การกัดเซาะตลิ่ง (bank erosion) การตกตะกอนในเขื่อน (reservoir sedimentation) หรือการฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำ (stream restoration) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น