xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก Starliner ยานอวกาศของ Boeing ที่ยังกลับโลกไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อภารกิจอวกาศอื่นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ ยานอวกาศ Starliner ของบริษัท Boeing จะประสบความสำเร็จในภารกิจส่งนักบินอวกาศ Butch Wilmore และ Suni Williams สู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ด้วยการนำส่งจาก จรวด Atlas V (five) ที่ถูกปล่อย ณ ศูนย์อวกาศที่ Cape Canaveral รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธ 5 มินายน 2024 ที่ผ่าน และถือเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้โดยสารไปกับยานที่พัฒนาขึ้นใหม่ลำนี้

ล่าสุด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA ได้เผยว่า ยานอวกาศ Starliner ประสบปัญหาเครื่องขับดันเสียและมีก๊าซฮีเลียมรั่วไหล ซึ่งการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบความปลอดภัยได้มีความล่าช้าจนทำให้ 2 นักบินอวกาศต้องติดอยู่บน ISS นานกว่า 2 เดือน ทำให้จนปัจจุบันยังไม่สามารถนำ 2 นักบินกลับมายังโลกได้ จากเดิมที่มีแผนแค่ให้ตัวยานเชื่อมอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเพียงแค่ 8 วัน

คลิกอ่าน >>> มึนมาก! NASA เฉลย 2 นักบินอวกาศทดสอบไฟลต์โบอิ้งขึ้นสถานีอวกาศ ISS กำหนดท่องอวกาศแค่ 8 วัน อาจต้องเลื่อนกำหนดกลับโลกไปถึงปีหน้า (ชมคลิป)


ยานอวกาศ Starliner เป็นยานที่ได้ถูกพัฒนาโดย บริษัท Boeing ซึ่งเป็นแผนงานของ NASA ที่ได้มีการสนับสนุนบริษัทเอกชน และการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศ โดยได้มีการว่าจ้างบริษัท Boeing คู่กับบริษัท SpaceX เพื่อสร้างยานสำหรับนำส่งนักบินอวกาศไปกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ สำหรับใช้ทดแทนโครงการกระสวยอวกาศที่เตรียมปลดประจำการ ยานอวกาศของทั้งสองบริษัทได้ถูกออกแบบให้ใช้ซ้ำได้ และทั้งคู่นับเป็นตัวเลือกในการเดินทางหรือระบบสำรองของกันและกัน เพื่อให้แน่ใจว่าภารกิจการสำรวจอวกาศของ NASA จะไม่ติดขัดหยุดชะงักในอนาคต

งบประมาณที่ NASA จ้าง บริษัท Boeing คือ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 147,000 ล้านบาท มากกว่า SpaceX เกือบเท่าตัว แต่ SpaceX ส่งยาน Dragon พร้อมนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้ตั้งแต่ปี 2020 จนกลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่พามนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศสำเร็จ หลังจากในอดีตมีเพียงหน่วยงานระดับชาติเท่านั้นที่ทำได้ คือ รัสเซีย สหรัฐฯ และจีน


ก่อนที่ยาน Starliner จะพบปัญหาในปัจจุบัน ในเดือนธันวาคม 2019 บริษัท Boeing ได้ปล่อยยาน Starliner ที่ไม่มีนักบินอวกาศโดยสาร (OFT) ไปยัง สถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นครั้งแรก แต่กลับพลาดใช้เชื้อเพลิงมากเกินไปจนต้องเดินทางกลับสู่โลกก่อนที่จะไปถึง จากนั้นได้พยายามแก้มือทดสอบบินครั้งที่ 2 (OFT-2) แต่ก็มีปัญหาและเลื่อนภารกิจไปหลายครั้ง จนในที่สุดสามารถทำภารกิจ OFT-2 ได้สำเร็จเมื่อพฤษภาคม 2022 แต่ก็พบปัญหาว่าก่อนที่เข้าสู่วงโคจรเครื่องขับดัน 2 ตัวไม่สามารถจุดระเบิดได้ และมีผลทำให้ภารกิจบินทดสอบพร้อมนักบินอวกาศครั้งแรก (CFT) ต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง จน 5 มิถุนายน 2024 ก็สามารถปล่อยยานอวกาศ Starliner พร้อม 2 นักบินอวกาศไปสู่อวกาศและจอดเทียบท่า ISS ได้สำเร็จ

ความสำเร็จของการขึ้นบินทำให้ Starliner เป็นยานอวกาศชนิดที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่สามารถนำส่งนักบินอวกาศไปสู่วงโคจรโลกได้ ตามรอยยาน Mercury, Gemini, Apollo, กระสวยอวกาศ, และ Crew Dragon พร้อมกับเป็นเที่ยวบินแรกที่มีการใช้จรวดตระกูล Atlas นำส่งมนุษย์ นับตั้งแต่สมัยโครงการ Mercury เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว


จากปัญหาของยาน Starliner ทาง NASA ได้ประกาศออกมาว่า การกลับบ้านของ Starliner ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และยังทำให้ต้องมีการเลื่อนกำหนดส่ง 4 นักบินอวกาศ ได้แก่ Zena Cardman, Nick Hague, Stephanie Wilson และ Aleksandr Gorbunov ในภารกิจถัดไปคือ ภารกิจ Crew-9 เป็นเดือนกันยายน 2024 ซึ่งตามเดิมแล้ว ยาน Crew Dragon ของบริษัท SpaceX มีกำหนดนำส่งนักบินอวกาศในวันที่ 18 สิงหาคม 2024 นี้ เพื่อสับเปลี่ยนให้ลูกเรือภารกิจ Crew - 8 เดินทางกลับโลก

การเลื่อนกำหนดส่งออกไปเป็นวันที่ 24 กันยายน ทำให้ทีมปฏิบัติการของ NASAและ ROSCOSMOS สามารถโฟกัสกับการสับเปลี่ยนลูกเรือที่เดินทางไปกับยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซีย ที่มีกำหนดในช่วงกลางเดือนกันยายนได้ และไม่กระทบกับการเตรียมความพร้อมนำส่งยาน Europa Clipper มุ่งหน้าไปดาวพฤหัสบดี ที่จะเดินทางไปกับจรวด Falcon Heavy ของ SpaceX ในเดือนตุลาคมนี้ และการนำส่งนักบินอวกาศภารกิจ Crew-9 ต้องเปลี่ยนไปใช้ฐานปล่อย SLC-40 เพื่อเตรียมฐานปล่อย LC-39A ให้พร้อมสำหรับยาน Europa Clipper ส่วนภารกิจนำส่งเสบียงด้วยยาน Dragon ในภารกิจ CRS-31 ก็ถูกเลื่อนไปเป็นช่วงกลางเดือนตุลาคมแทน


ข้อมูล – รูปอ้างอิง : NASA / spaceth.co


กำลังโหลดความคิดเห็น