xs
xsm
sm
md
lg

“วันสงกรานต์” พระอาทิตย์ย้ายราศีจากมีนสู่เมษ โลกเริ่มวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ใหม่อีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่อดีตก่อนมีการใช้ปฏิทินสากล การใช้ตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นสิ่งกำหนดวันสำคัญ ได้ถูกใช้กันมาอย่างยาวนาน เช่น เทศกาลสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ก็ได้มีการใช้ดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นสิ่งกำหนดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน และยังทำให้เราได้รู้อีกว่า โลกของเราได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบวงโคจร และได้เริ่มต้นวงโคจรรอบใหม่อีกครั้ง


เรารู้ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะ ใช้ระยะเวลาประมาณ 365 วัน หรือ 1 ปี บนท้องฟ้าดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปด้วยอัตราประมาณ 1° ต่อวัน โดยมีทิศทางจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ตรงข้ามกับการหมุนของทรงกลมท้องฟ้า ซึ่งเรียกระนาบการโคจรนี้ว่า “สุริยวิถี”

สุริยวิถีเป็นแถบสมมติบนท้องฟ้า โดยเป็นระนาบเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปีท่ามกลางดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง ทำให้ท้องฟ้าในแต่ละเดือนเมื่อมองจากโลกจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกัน เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ตามระนาบวงโคจร


การแบ่งเส้นสุริยวิถีออกเป็นจักรราศี มีเริ่มต้นในยุคบาบิโลเนีย ช่วงครึ่งแรกของ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้คนบนโลกเมื่อครั้งอดีต สามารถใช้ข้อมูลการโคจรของดวงดาวนี้ บันทึกเรื่องราวระบุวัน – เวลาต่างๆ ได้

เริ่มตั้งแต่ 1. กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) 2. กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) 3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) 4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) 5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์) 6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์) 7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล) 8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก) 9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร) 11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ 12. กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน) กลุ่มดาวฉากหลังสุดท้าย ก่อนที่จะครบวงโคจร และเริ่มต้นการโคจรรอบใหม่อีกครั้งที่กลุ่มดาวแกะ


ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทยเรานั้น ได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวัน “มหาสงกรานต์” ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านราศีอื่นๆ มาแล้วจนครบ 12 เดือน หรือตามสุริยวิถีคือพระอาทิตย์จะขึ้นและตกดินโดยมีกลุ่มดาวแกะเป็นฉากหลัง โดยพระอาทิตย์จะย้ายราศีในวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นช่วงที่โลกได้สิ้นสุดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ราศีมีน กลุ่มดาวปลาคู่ ลำดับที่ 12 และเข้าสู่วงโคจรรอบใหม่อีกครั้ง เมื่อดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ กลุ่มดาวแกะ ลำดับที่ 1

และคำว่าสงกรานต์ในภาษาสันสกฤต ยังมีความหายว่า "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้ายเข้าไป จึงทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ถือเป็นการสิ้นสุดการโคจร 1 รอบ และเริ่มต้นการโคจรรอบดวงอาทิตย์ใหม่อีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น