xs
xsm
sm
md
lg

วช. โดย ศูนย์ HTAPC ชี้ทางรอดฝุ่น PM 2.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องใช้ข้อมูลจากงานวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติโดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ(Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ชี้ทางรอดฝุ่น PM 2.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องใช้ข้อมูลจากงานวิจัย เร่งปรับพฤติกรรม ผสานความร่วมมือ

วันนี้ (1 มี.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด และมี นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองศาสตราจารย์ ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ร่วมประชุมเสวนา ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การริเริ่มก่อตั้ง เกิดเป็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” (Hub of Talents on Air Pollution and Climate: HTAPC) ภายใต้แผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และ ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) เพื่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับนานาชาติจากหลากหลายสถาบัน ด้วยหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศและได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีก วช. โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จึงจัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ปัญหามลพิษทางอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่น PM 2.5 การจัดการกับปัญหาการเผาป่าและการเผาในที่โล่งภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเรื่องหมอกควันข้ามแดน ที่แหล่งกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง แล้วเกิดการเคลื่อนที่ของมลพิษในระยะไกลเข้ามาในประเทศไทย และเพื่อบูรณาการการจัดการฝุ่น PM 2.5 และสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้นำไปสู่ “การจัดการกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออากาศสะอาดสำหรับทุกคน”

นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศพบว่า มีแนวโน้มและโอกาสเกิดปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบางช่วงของปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว พบความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานรายวัน ปัญหา PM 2.5 จึงมีผลกระทบกับกลุ่มประชากรจำนวนมากในช่วงที่เป็นปัญหา แต่องค์ความรู้ด้านคุณภาพอากาศ ความเข้าใจในสภาพปัญหา และที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กยังมีจำกัด การประชุมสัมมนาวิชาการเรื่องคุณภาพอากาศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นประโยชน์กับพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับสภาวการณ์ ทั้งนี้ได้เตรียมวางแผนงานและมาตรการเฝ้าระวังปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักแห่งหนึ่งในภูมิภาคที่ได้มีความตระหนัก ติดตาม ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้ดำเนินการในเชิงวิชาการซึ่งเป็นภารกิจหลักขององค์กร ได้แก่ การวิจัย การจัดอบรมสัมมนา การให้บริการทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการได้ครอบคลุมตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงผู้รับมลพิษ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ยังคงดำรงค์อยู่และคาดว่าจะยังคงไม่สิ้นสุดภายในระยะเวลาอันใกล้ การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่ครอบคลุมหลายมิติ การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง PM 2.5 มาไขข้อข้องใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้กับนักวิชาการและประชาชนทั่วไปให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการนำสิ่งที่ไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ก็จะนำไปสู่การนำเสนอแนวทางการเตรียมรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนในการเฝ้าระวัง การเผชิญเหตุเมื่อปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ ข้อควรปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในช่วงเวลาวิกฤตของพื้นที่ การจัดการพื้นที่ SAFE ZONE หรือพื้นที่ปลอดฝุ่น รวมถึงร่วมกันเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการฝุ่น PM 2.5 ที่เหมาะสมกับรายบุคคล ทั้งนี้ วช. และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชน เฝ้าระวัง ป้องกันฝุ่น PM 2.5 สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก อันจะนำไปสู่ สุขภาพ คุณภาพ ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต




























กำลังโหลดความคิดเห็น