xs
xsm
sm
md
lg

สวทช. – พันธมิตร หนุนเกษตรกรปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML เป็นพืชหลังนา ต่อยอดงานวิจัยใช้ประโยชน์จริง สร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ เยี่ยมชมความสำเร็จ โครงการการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ปีงบประมาณ 2566 ณ จังหวัดอำนาจเจริญ - ศรีสะเกษ


นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ และ รศ. ดร.ประกิจ สมท่า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวจนได้สายพันธุ์ KUML1-5 และ 8 ที่มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดขนาดใหญ่ สุกแก่เร็ว ให้ผลผลิตได้สูงถึง 300 กิโลกรัม (กก.) /ไร่ ที่สำคัญต้านทานโรคราแป้งและใบจุดได้ดี


นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.ประกิจ สมท่า และ ผศ.ดร.กนกวรรณ เที่ยงธรรม ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) จ.นครปฐม ขยายผลการผลิตถั่วเขียว KUML ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ผลิตถั่วเขียวให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดถั่วเขียวทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กลไกตลาดนำการผลิต (Inclusive Innovation) เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย เรื่องการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ (seed) คุณภาพดี เกษตรกรขาดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และปัญหาเรื่องตลาดรับซื้อผลผลิต ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำถั่วเขียว KUML ไปปลูกเป็นพืชหลังนาเพื่อปรับปรุงดิน ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน อาทิ การจัดการภัยแล้ง และนวัตกรรมแก้จน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)


นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. กล่าวเสริมว่า ด้วยประเทศไทยประสบภาวะสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ รัฐบาลส่งเสริมให้ลดการทำนาปรัง โดยให้ปลูกพืชทนแล้งหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยทนแทนการทำนาปรัง พืชตระกูลถั่วนับเป็นพืชที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ช่วยตัดวงจนชีวิตโรคแมลงในพื้นที่นาข้าว และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน นอกจากนี้พืชตระกูลถั่วยังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ แต่ผลผลิตพืชตระกูลถั่วในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท เนื่องจากพื้นที่การเพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง จำนวน 81,190 ไร่ 713,437 ไร่ และ 71,088 ไร่ ปริมาณผลผลิต 22,252 ตัน 108,467 ตัน 25,652 ตัน และปริมาณการนำเข้า 2,684 ตัน 33,472 ตัน และ 9,943 ตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ถั่วเขียวถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งวุ้นเส้น ไส้ขนม ขนมหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร Plant-Based ที่ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น เพราะถั่วเขียวมีโปรตีนสูง จึงเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของอาหารแห่งอนาคตนี้


นายอดุลย์ โคลนพันธ์ เกษตรกรแกนนำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรปลูกถั่วเขียว KUML ซึ่งเป็นพืชหลังนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว จากเดิมปลูกถั่วเขียวพันธุ์ทั่วไป เหลือขายเล็กน้อยมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่เพียง 1,500 บาท เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการปลูกและองค์ความรู้จาก สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเข้ามาถ่ายทอดขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML แบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวมีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาทต่อไร่ ซึ่งถือว่ามีรายได้เพิ่มจากการเก็บเกี่ยวข้าวพักแปลงนา โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่เกษตรกรปลูกถั่วเขียวเป็นพืชหลังนา (มกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี) นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว สภาพดินก็ดีขึ้น ส่งผลให้การปลูกข้าวในรอบฤดูปลูกถัดไป มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้นต่อเนื่อง และลดการใส่ปุ๋ยในนาข้าวได้เกินครึ่ง โดยมีภาคเอกชนอย่าง บริษัท ข้าว ดิน ดี จำกัด รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวจากเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกถั่วเขียวอินทรีย์สายพันธุ์ KUML ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ไปผลิตและแปรรูปเป็นพาสต้าออร์แกนิกส์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มยังสามารถขายเมล็ดถั่วเขียว (grain) ให้กับผู้บริโภคภายใต้บริษัท บ้านต้นข้าว จำกัด ของกลุ่มในราคากิโลกรัมละ 80 บาท และที่สำคัญกลุ่มสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว (seed) ไว้ใช้เอง เพื่อนำต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ในการปลูกฤดูกาลถัดไป และเกิดความยั่งยืน


นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงการสนับสนุนเกษตรกรและผลักดันหน่วยงานในจังหวัดตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมกับ สวทช. ว่า จังหวัดศรีสะเกษขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model พื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้ สร้างเศรษฐกิจใหม่จากฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีโจทย์นำร่องในเรื่อง ข้าว พืชหลังนา และสิ่งทอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสมุนไพร ผักอินทรีย์ โคเนื้อ ที่ สวทช. และหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ขับเคลื่อนในการนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และเกษตรกรในจังหวัด โดยใช้กลไกโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน


นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า กลุ่มส่งเสริมพืชน้ำมันและพืชตระกูลถั่ว สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ในการส่งเสริมการขยายผลถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ โดยได้ผลการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี โดยในปี 2567 ได้วางแผนการขยายผลถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML แบบครบวงจร โดยใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” โดยจะดำเนินงานใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดเพชรบูรณ์ พะเยา และร้อยเอ็ด และจะขยายผลให้ครอบคลุมใน 5 จังหวัดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น ด้านการเกษตร แผนแม่บทย่อย: เกษตรปลอดภัย โดยโครงการที่ร่วมมือกันนี้ จะมีการพัฒนาต้นแบบเกษตรกร แปลงเรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในระดับชุมชน โดยมุ่งหวังการส่งเสริมเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตสูง (Grain) ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวระดับชุมชน (Seed) ที่สามารถลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น