กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือกรมส่งเสริมการเกษตรหารือแนวทางการพัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่มีคุณภาพ เผยช่วยวางระบบบัญชีต้นแบบให้กับวิสาหกิจชุมชน ช่วยบริหารต้นทุนการผลิตและรับมือกับสถานการณ์ราคาผลผลิตที่มีความผันผวน พร้อมเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย มั่นใจเกษตรกรไทยมีความรู้ด้านการเกษตรสูง หากเพิ่มบทบาทความเป็นผู้ประกอบการเข้าไป จะเสริมแกร่งเป็นเกษตรกรใส่สูทที่มีศักยภาพ
นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชนอย่างเต็มตัว โดยทั้ง 2 หน่วยงานเห็นพ้องกันว่า เกษตรกรไทยนอกจากจะเป็นเกษตรกรโดยอาชีพแล้ว หมวกอีก 1 ใบ คือ การเป็นผู้ประกอบการที่นำผลผลิตทางการเกษตรออกจำหน่ายผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง หรือ ค้าขายเองผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งหมวกของการเป็นเกษตรกรมีความชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำความเป็นผู้ประกอบการใส่เข้าไปในความคิดและทัศนคติ พร้อมนำเครื่องมือทางธุรกิจที่จำเป็น เช่น เทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปช่วยปรับบทบาทให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ที่พร้อมนำทักษะการเป็นผู้ผลิต (ต้นน้ำ) มาผนวกกับการเป็นผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่าย (กลางน้ำ) ก่อนนำส่งสินค้าหรือผลิตผลทางการเกษตรแก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่การบริโภค ทำให้ระบบการบริหารจัดการด้านสินค้าและธุรกิจมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลกำไรที่มั่นคงในอนาคต
ทั้งนี้ การยกระดับเกษตรกรให้มีความเป็นมืออาชีพเริ่มดำเนินการแล้ว โดยกรมและหน่วยงานพันธมิตรๅๅได้ลงพื้นที่ส่งมอบระบบบัญชีต้นแบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่จำเป็นและเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จ.เพชรบุรี และวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน
จากการลงพื้นที่พบว่า แม้เกษตรกรจะมีจุดเด่นด้านการผลิต แต่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการ และยังขาดความรู้ในการจัดทำบัญชีต้นทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบริหารต้นทุนและเป็นข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจประกอบกิจการทุกด้าน รวมทั้งขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อทำรายงานขายและรายงานต้นทุนที่ถูกต้อง ส่งผลให้ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของเกษตรกร
นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ด้านราคาผลผลิตที่มีความผันผวนตลอดเวลา เกษตรกรจึงไม่สามารถวางแผนการผลิตและการขายได้ ทำให้ผลประกอบการของเกษตรกรขาดทุน และไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การส่งมอบระบบบัญชีต้นแบบจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้การบันทึกรายการค้าอย่างง่ายและครบถ้วน ช่วยปลูกฝังให้เกษตรกรมีการจัดทำรายงาน เก็บรวบรวมเอกสารอย่างเป็นระบบมากขึ้น และนำเครื่องมือนี้ไปใช้ได้จริง สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน และในอนาคต กรมและหน่วยงานพันธมิตรตั้งใจที่จะนำผลสำเร็จจากการส่งมอบระบบบัญชีต้นแบบให้กับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จ.เพชรบุรี และวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน นี้ไปขยายผลและประยุกต์ใช้กับวิสาหกิจชุมชนรายอื่น ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาเกษตรกรให้มีความเป็นผู้ประกอบการและเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สามารถวางแผนระบบการผลิตและบริหารต้นทุนได้ด้วยการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร โดยการเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างโอกาสทางการค้าร่วมกัน และขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย โดยการเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความมีคุณค่า และความน่าสนใจของสินค้าเกษตร ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะดำเนินงานภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” และ “ตลาดนำการผลิต” ที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ใช้ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรไทย