xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) กังหันลมผลิตไฟฟ้าถอดแบบจาก “เปลือกหอยแมลงภู่” ชูอัตลักษณ์ชุมชน สร้างพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พลังงานไฟฟ้าจากลม เป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ที่ในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกันมากขึ้น เนื่องจากการผลิตใช้ต้นทุนน้อย สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องจากลมธรรมชาติและไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกังหันที่ใช้ผลิตพลังงานหากมีการออกแบบให้สวยงาม และตั้งไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม ก็สามารถต่อยอดให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย

เหมือนอย่างเช่น ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว จังหวัดกระบี่ ชุมชนที่ได้นำอัตลักษณ์วิถีชีวิตการเลี้ยงหอยแมลงภู่ มาต่อยอดทำเป็น “กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า” (The Mussel turbines) ที่ได้ใช้รูปแบบอันโดดเด่นของเปลือกหอยแมลงภู่ ออกแบบเป็นใบพัดกังหันลม สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทุกช่วงเวลา และยังสร้างสีสันให้กับบริเวณที่ติดตั้งจนกลายเป็นจุดเช็คอินที่สวยงาม


ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้ดำเนินงานวิจัย กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า (The Mussel turbines) เล่าถึงแรงบัลดาลใจในการทำงานวิจัย ว่า ได้มีโอกาสไปบริการวิชาการที่ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และได้เห็นว่าพื้นที่ในจุดนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ อาทิ สะพานเดินชมป่าชายเลน น้ำพุร้อนเค็ม น้ำตกหินเพิง ท่าเรือเทียบเรือที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของทะเลกระบี่ได้อย่างสวยงาม และยังเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ

แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ชาวบ้านที่เลี้ยงหอยแมลงภู่ได้ประสบกับปัญหาราคาหอยตกต่ำ อีกทั้งวิกฤตโควิด -19 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวน้อยลง จึงทำให้รายได้ของคนในชุมชนลดน้อยลงตามไปด้วย ทางโครงการวิจัยจึงได้มีการปรึกษาและได้หาทางออกร่วมกับชุมชน ด้วยการประดิษฐ์ “กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า” ซึ่งเป็นการนำเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเปลือกหอยแมลงภู่ มาออกแบบเป็นใบพัดกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้พื้นที่ชุมชน และยังสามารถสื่อความหมายอัตลักษณ์วิถีชีวิตการเลี้ยงหอยอีกด้วย


กังหันลมหอยแมลงภู่ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นนั้น ถูกนำไปติดตั้งยังสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น “ท่าเรือบ้านท่ามะพร้าว” โดยท่าเทียบเรือนี้สามารถชมทัศนียภาพของทะเลกระบี่ได้อย่างกว้างไกล กังหันลมหอยแมลงภู่จึงสร้างสีสันให้กับท่าเรือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ใช้เป็นไฟฟ้าส่องสว่างในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าและสร้างความปลอดภัยในช่องเวลากลางคืนให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย


“นอกจากจะผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแล้ว ก็ยังมีการต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยว กลายเป็นจุดเช็คอินใหม่ในการถ่ายรูปคู่กับกังหันลมหอยแมลงภู่ที่มีพื้นหลังเป็นทิวทัศน์ทะเลกระบี่ และที่ฐานกังหันยังมีจุดชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ให้บริการคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย” .... ดร.สุพัฒนชัย ผู้ดำเนินงานวิจัย กล่าวเสริม


ในด้านงานวิจัย กังหันลมหอยแมลงภู่นั้น เป็นกังหันแกนตั้งแบบ Vertical Axis win turbines (VAWT) ซึ่งสามารถผลิตลมได้ทุกทิศทาง นอกจากนี้รูปทรงของเปลือกหอยแมลงภู่ที่นำมาดัดแปลงในการรับลม ยังสอดคล้องกับหลักพลศาสตร์ สามารถรับลมได้ทุกทิศทาง ทำให้กังหันสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ


“ในช่วงแรกนั้นมีการใส่ใบพัดให้กังหัน 3 ใบพัด แต่ด้วยการรับลมที่ดีมากของรูปทรงเปลือกหอยแมลงภู่ทำให้กังหันหัก จึงได้ลดขนาดและจำนวนเหลือเพียงแค่สองใบพัด ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ในชุมชน”


ปัจจุบันทางโครงการวิจัยได้มีการถ่ายทอดวิธีการประดิษฐ์กังหันให้กับคนในชุมชน โดยเน้นนำวัสดุที่สามารถหาได้ในชุมชนเพื่อลดต้นทุนในการประดิษฐ์ และการซ่อมบำรุง งานวิจัย “กังหันลมหอยแมลงภู่ผลิตไฟฟ้า” จึงเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องพลังงานสะอาด และยังสามารถต่อยอดในเรื่องของการท่องเที่ยวให้กับชุนชนได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น