xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.ภูเก็ต พัฒนา รพ.สต.หลังถ่ายโอน นำร่อง 2 แห่งโฟกัส "ส่งต่อ-ทันตกรรม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สช.-สวรส. จับมือภาคีลงนามพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นร่วมกับ “อบจ.ภูเก็ต” เตรียมนำร่องสร้างการมีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ตอบโจทย์ปัญหาพื้นที่ หลังรับถ่ายโอน รพ.สต. ครบทั้งจังหวัด วางแผน รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว พัฒนาระบบส่งต่อ รพ.สต.ราไวย์เพิ่มเข้าถึงทันตกรรม

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.ภูเก็ต) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น (Sandbox) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. โดยมีหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ร่วมเป็นพยาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)

สำหรับพื้นที่นำร่อง 2 แห่งที่จะสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน ประกอบด้วย รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ และ รพ.สต.ราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม


นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2567 ทาง อบจ.ภูเก็ต ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มาจนครบทั้งจังหวัดแล้ว รวม 21 แห่ง ซึ่งทาง อบจ. ได้มองเห็นถึงโอกาสสำคัญจากการรับถ่ายโอนในครั้งนี้อยู่ 2 ส่วน คือ 1. การแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ 2. ประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย ผ่านโครงการ ‘อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ’ โดยมีโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นแกนกลาง จากสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว ทาง อบจ.ภูเก็ต ต้องการให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับการให้บริการสุขภาพในช่วงภายหลังการเปลี่ยนผ่านของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ใน 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการให้ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนชาวภูเก็ต เพื่อช่วยลดความแออัด และลดภาระงานของโรงพยาบาลตามที่วางแผนเอาไว้

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมไม้ร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ที่ได้ร่วมดำเนินการศึกษา เก็บข้อมูล ระดมความคิดเห็นจากการลงพื้นที่จริง แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาจัดทำเป็นแนวนโยบายในการดูแลสุขภาพของคนภูเก็ต ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้ด้วย” นายก อบจ.ภูเก็ต ระบุ


นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพนั้นมีความพยายามมานาน โดยเริ่มจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดเล็กก่อน แต่เมื่อมีข้อจำกัด ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในการถ่ายโอนมาที่ อปท. ขนาดใหญ่คือ อบจ. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพและความพร้อมดำเนินการ โดยส่วนตัวดีใจที่ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชน ซึ่งอาจเป็นต้นแบบให้กับการถ่ายโอนในจังหวัดอื่นๆ ประสบความสำเร็จต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างแบรนด์ด้านสุขภาพให้กับ อบจ. ที่ต่อไปคนจะนึกถึงเป็นหนึ่งในภารกิจของท้องถิ่น


ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ มรภ.ภูเก็ต กล่าวว่า ทาง มรภ.ภูเก็ต ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ สช. ในการศึกษากลไกความร่วมมือภายในท้องถิ่นในการอภิบาลระบบสุขภาพ ที่สามารถจัดบริการระดับปฐมภูมิได้ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ โดยจากการศึกษาในขั้นต้นพบว่าปัจจุบัน อบจ.ภูเก็ต มีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องมือในการส่งเสริมการตรวจสุขภาพประชาชน ผ่านโครงการ Phuket Health Sandbox ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Homecare, Phuket smart healthcare และ Telemedicine เป็นต้น นอกจากนี้ อบจ.ภูเก็ต ยังมีนโยบายเร่งด่วนที่จะสนับสนุน รพ.สต. ทั้งการเพิ่มบุคลากร การปรับปรุงอาคาร สถานที่ โดยจุดแข็งซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ทาง อบจ. มีอยู่ คือผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสาธารณสุขของจังหวัด ทั้งมิติของการดูแล รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู อีกทั้งมีงบประมาณในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก ตลอดจนการบริการของ รพ.สต. ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน มากไปกว่านั้นยังมีโรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ต ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม ได้พบว่ามีข้อจำกัดอยู่ เช่น การขาดแคลนกำลังคน ตัวชี้วัดที่ยังไม่สอดคล้องกับพื้นที่ การดำเนินงานด้านบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ยังเป็นไปในเชิงตั้งรับ รวมทั้งปัญหาของระบบส่งต่อในพื้นที่เกาะ ทางทีมศึกษาจึงมีข้อเสนอในเบื้องต้น ได้แก่ 1. ควรสรรหา บรรจุ บุคลากรตามกรอบอัตรากำลังอย่างเร่งด่วน 2. กำหนดการพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน 3. ควรมีการพัฒนาระบบการให้บริการของ รพ.สต. ให้เหมาะกับ จ.ภูเก็ต 4. พัฒนาระบบส่งต่อ

“การพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่นจะทำโดยฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีต่างๆ โครงการศึกษาและการลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อออกแบบแนวทาง มาตรการ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ สร้างระบบสุขภาพที่มีส่วนร่วมและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง” ผศ.เฉลิมพร ระบุ


นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ถือเป็นการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขให้กับท้องถิ่น ได้มีโอกาสในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ หรืออีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพ ดังนั้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของระบบสุขภาพท้องถิ่นในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ อบจ. มีทิศทางการพัฒนาและการให้บริการที่ดีขึ้น ในอนาคตระบบการแพทย์จะก้าวเข้าสู่ Lifestyle Medicine หรือการแพทย์จะเป็นเรื่องของปัจเจกมากขึ้น โดยที่ไม่ได้อยู่ในมือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จึงมาพร้อมกับโอกาสในการขับเคลื่อนไปสู่ Public Wellness Care อันเป็นการสร้างเสริมสุขภาพโดยสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งท้องถิ่นจะต้องออกแบบต่อไปว่าจะจัดบริการแบบใด เพื่อไปตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พร้อมการสร้างสุขภาวะให้กับประชาชน

“กระแสด้านสุขภาพที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลก เช่น ปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ โรคมะเร็ง รวมถึงประเด็นปัญหาเด็กเกิดน้อย ส่วนเด็กที่เกิดมาก็เสี่ยงเป็นโรคเนื่องจากภาวะท้องไม่พร้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นโจทย์ของ อบจ. และภาคีในจังหวัดที่ต้องช่วยกันคิดต่อ” นพ.บัญชา กล่าว


ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต นับว่ามีประสบการณ์สำคัญในการบริหารจัดการอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ คือ ภัยพิบัติสึนามิ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นฐานทุนที่ดีในการพิสูจน์ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครต่างๆ และที่สำคัญคือการสนับสนุนของ อปท. ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้นมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ทาง สช. จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนิน “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ.” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อค้นหาแนวทางของการทำให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นภายหลังได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มาแล้ว สามารถมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้จริง โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ท้องถิ่นมาบริหารจัดการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มาเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งทุกฝ่ายจะมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้วยกัน

“ในบรรดา อบจ. กว่า 60 จังหวัดที่รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว อบจ.ภูเก็ต ถือเป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่เราเลือกขึ้นมาศึกษาในโครงการฯ ด้วยความเป็นจังหวัดที่มีแนวคิด กระบวนการทำงาน มีการศึกษาเก็บข้อมูล วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาไปพร้อมกัน โดยผลผลิตที่เราจะได้จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางด้านวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ประเด็นสำคัญคือการทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.” นพ.ปรีดา กล่าว

อนึ่ง ในส่วนของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ยังได้มีการจัดเวทีสาธารณะขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นระดับจังหวัด ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย. 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจ ระดมความคิดเห็นข้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 แห่ง คือ รพ.สต.ราไวย์ และ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แกนนำชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทั้ง 2 พื้นที่เข้าร่วม


กำลังโหลดความคิดเห็น