“สุวรงค์” รอง ผอ.NSM เผยผู้รักงานเขียนและผู้ที่ชื่นชอบในวิทยาศาสตร์เข้า “อบรมพัฒนาทักษะการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์” ในโครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567 คึกคัก เผยขอให้สร้างสรรค์ผลงานสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า NSM ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด จัด “อบรมพัฒนาทักษะการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของ “โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567” เมื่อวันที่ 25 - 26 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ณ ห้อง IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ที่มีใจรักงานเขียน ได้รับประสบการณ์ในการฝึกทักษะด้านการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นแนวคิดในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต โดยการอบรมพัฒนาทักษะการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน อาทิ ดร.ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา กับ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Sci-fi in Action”, คุณชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เจ้าของนามปากกา “ปราบต์” กับ การบรรยาย เรื่อง “Let's start to the novel”, คุณกิตติศักดิ์ คงคา นักเขียนจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กับ การบรรยาย เรื่อง “เทคนิคการขยาย PLOT” และคุณปองวุฒิ รุจิระชาคร และคุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในการเสวนาพิเศษหัวข้อ“ประสบการณ์นักเขียน” ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับจากผู้รักงานเขียนและผู้ที่ชื่นชอบในวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมจำนวน 70 คน
“โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567 จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในวิทยาศาสตร์และรักงานเขียนได้รับประสบการณ์และฝึกฝนทักษะการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และพร้อมที่จะนำเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดเป็นงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยการอบรมฯ ในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคนได้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และหันมาสนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ พร้อมนำไปสร้างผลงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในรูปแบบงานเขียนมากขึ้นและผลิตผลงานส่งเข้าร่วมการประกวดกับโครงการฯ ซึ่งถือเป็นบันไดสำคัญขั้นหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุวรงค์ กล่าว