ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เรามีการขุดน้ำบาดาลจากใต้ดิน มาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านการเกษตร การใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การใช้น้ำบาดาลมาอย่างต่อเนื่องและนับวันปริมาณการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อโลกของเราด้วย เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ได้เผยข้อมูลทางธรณีวิทยาระหว่างปี 1993 - 2010 ว่า ทั่วโลกมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมหาศาล จนส่งผลกระทบต่อลักษณะการกระจายตัวของแหล่งน้ำใต้ดิน
การสูบน้ำบาดาลมาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น การสำรวจทำให้ได้ทราบว่าแกนหมุนของโลกเสียสมดุลและเอียงไปทางทิศตะวันออกมากขึ้น ส่วนตำแหน่งของขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ก็เคลื่อนที่ไปจากเดิมถึง 80 เซนติเมตร
ดร.กี วอน ซอ นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และคณะ ได้ตีพิมพ์รายงานว่าด้วยผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Geophysical Research Letters ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่าในบรรดาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การสูบน้ำบาดาลถือเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อความเปลี่ยนแปลงของแกนหมุนโลก
ได้มีค้นพบการเปลี่ยนแปลงนี้มาแล้ว เมื่อปี 2016 โดยพบว่ารูปแบบการกระจายตัวของแหล่งน้ำใต้ดินที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งเนื่องจากภาวะโลกร้อน สามารถส่งผลให้การกระจายตัวของมวลรอบแกนหมุนโลกเสียสมดุล จนแกนหมุนดังกล่าวต้องปรับแนวการวางตัวใหม่เพื่อชดเชยภาวะเสียสมดุลนั้น
การศึกษาของ ดร.กี วอน ซอ จัดเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นผลกระทบทางธรณีวิทยา อันเนื่องมาจากการสูบน้ำบาดาลเกินขนาดอย่างชัดเจน โดยประมาณการว่าระหว่างปี 1993-2010 ทั่วโลกสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ราว 2,150 กิกะตัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 6 มิลลิเมตรด้วย
ทีมผู้วิจัยสามารถประมาณการดังกล่าวได้ หลังสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนตัวของขั้วโลกทั้งสองตำแหน่ง และข้อมูลการกระจายตัวของแหล่งน้ำที่มาจากการละลายตัวของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง
การที่มนุษย์สูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เกินขนาด ทำให้ตำแหน่งของขั้วโลกทั้งเหนือและใต้เคลื่อนไปจากเดิมโดยเฉลี่ยปีละ 4.36 เซนติเมตรในช่วงทศวรรษก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปรากฏการณ์จากฝีมือมนุษย์นี้ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และน่าจะส่งผลให้แกนหมุนของโลกเอียงมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภูมิภาคที่มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากที่สุด ได้แก่บริเวณมิดละติจูด (mid-latitude) ซึ่งก็คือแถบตอนกลางของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอเมริกาเหนือและทางตอนเหนือของอินเดีย
ข้อเสนอแนะหนึ่งของงานวิจัยระบุว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จนต้องมีการสูบน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นนั้น ควรแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อลดปริมาณการสูบน้ำบาดาลลง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางธรณีวิทยาระดับโลก ซึ่งอาจต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าที่ความพยายามนี้จะบังเกิดผล
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : bbc.com , space.com