xs
xsm
sm
md
lg

“เอเลี่ยนสปีชีส์” ต้นเหตุอันดับ 1 ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ก็ไม่ใช่วายร้ายเสมอไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกระแสการพบ “อีกัวน่าเขียว” ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ด้วยการเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้เจ้ากิ้งก่าต่างถิ่นหนึ่งในเอเลี่ยนสปีชีส์ของประเทศไทย อาจจะสร้างผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นต่อระบบนิเวศได้ในอนาคต


MGROnline Science จึงขอพาไปทำความรู้จักกับความหมายของ “เอเลี่ยนสปีชีส์ ” (Alien Species) ที่ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทั่วโลก


เอเลียนสปีชีส์เป็นคำเรียกของสิ่งมีชีวิตสัตว์หรือพืช ที่เป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (introduced species) คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจสามารถดำรงชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้นๆ

เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นได้พบกับสภาพแวดล้อมแห่งนั้นเหมาะต่อการเจริญเติบโต เช่น การมีอาหารสมบูรณ์ ไม่มีกลไกทางธรรมชาติ หรือศัตรูในธรรมชาติที่ในการควบคุมประชากรชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ก็จะสามรถขายพันธุ์และแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี เหมือนอย่างเช่น อีกัวน่าเขียว ที่พบในพื้นที่ จ.ลพบุรี และ เพชรบุรี ซึ่งสามารถสร้างและขยายอิทธิพลในพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ จนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว

ข้อมูลการศึกษาจากการประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Ecosystem Assessment 2005) ได้ระบุว่า .... “เอเลียนสปีชีส์ ถือเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หากไม่นับการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติโดยมนุษย์”

FB : สัตว์ไรนิ
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถแบ่งได้ตามบทบาทที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น 2 ประเภท

1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ประเภทที่ไม่รุกราน (Non invasive)

สำหรับกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง หรือชัดเจนนัก เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่นหรือสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศที่เปลี่ยนไปอาจมีผลให้ชนิดพันธ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศ

2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ประเภทที่รุกราน (Invasive alien species, IAS)

เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี มีการเบียดเบียนชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม คือการกินชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ดั้งเดิม แย่งอาหาร แย่งชิงพื้นที่สืบพันธุ์ ข่มเหงพันธุกรรมที่มีความใกล้เคียงผสมพันธุ์ออกมากระทั่งลูกที่เกิดมีโอกาสรอดต่ำและเป็นหมันในรุ่นถัดไป ส่งผลทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง หรือบางกรณีเป็นพาหะนำโรคหรือปรสิตเข้าสู่พื้นที่โดยที่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นอาจไม่สามารถต้านทานได้ หรือการรบกวนสภาพนิเวศ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสมดุลนิเวศวิทยาเดิม ตัวอย่างในประเทศไทย เช่น ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ ปลาดุกแอฟริกา กุ้งเครย์ฟิช ผักตบชวา

แต่การระบุว่าเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” หรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งบางระบบนิเวศและพื้นที่ที่ต่างกัน ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป


สำหรับ “อิกัวนาเขียว” นั้น ไม่ใช่สัตว์เลื้อยคลานพื้นถิ่นของประเทศไทย โดยจัดอยู่ในหมวด "เอเลียนสปีชีส์" กิ้งก่าสีสันสวยงามชนิดนี้ เป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร

ตามกฎหมายประเทศไทยถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมในบัญชี อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ลําดับที่ 690 "อิกัวนา" ทุกชนิดในสกุล "Iguana" : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตวป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 และเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 กำหนดให้อีกัวนาขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย เพื่อป้องกันการหลุดรอดในธรรมชาติและกระทบระบบนิเวศ


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , Wikipedia FB : สัตว์ไรนิ


กำลังโหลดความคิดเห็น