xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานออกแถลงการณ์ "อีกัวน่าเขียว" ชี้มีเชื้อซาลโมเนลลา สัมผัสโดยตรงอาจท้องเสีย-อาเจียนได้ เตรียมดักจับตรวจเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานออกแถลงการณ์แก้ปัญหา "อีกัวน่าเขียว" แพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ชี้อีกัวน่าเขียวมีเชื้อซาลโมเนลลา สัมผัสแล้วท้องเสีย เร่งดักจับตรวจหาเชื้อ เผยหากพบใครปล่อยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

จากกรณีที่ได้เกิดสถานการณ์อีกัวน่าเขียว สัตว์ต่างถิ่น มีการแพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน เขาพระยาเดินธง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยการเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

วันนี้ (15 พ.ย.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอชี้แจงให้ทราบว่าอีกัวน่าเขียวเป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ลำดับที่ 690 อีกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 โดยอีกัวน่าเขียวมักพบเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง และทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียน ท้องเสียได้ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้าพื้นที่ทำการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่าง เพื่อไปตรวจสอบว่าอีกัวน่าเขียวบริเวณดังกล่าวจะพบเชื้อซาลโมเนลลาหรือไม่

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอแจ้งแนวทางสำหรับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายพันธุ์ของอีกัวน่าเขียว ดังนี้

1. หากมีการพบเห็นอีกัวน่าเขียว ให้โทร.แจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงไปดำเนินการดักจับเพื่อนำส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
2. ผู้ที่ครอบครองอีกัวน่าเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งต่อ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งต่อกองคุ้มครองพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่า ตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อนึ่ง สำหรับผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายโดยไม่ปล่อยให้สัตว์ที่อยู่ในครอบครองเป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับไปดูแล

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการสำรวจอีกัวน่าเขียวที่ไม่มีผู้ครอบครองทั่วประเทศ และดำเนินการดักจับเพื่อนำมาดูแลต่อไปแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น