xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิทยฯ มธ. โชว์ฝีมือ สกัด “ใบไผ่ซางหม่น” เป็นสารกลุ่มฟลาวโวนอยด์ ต่อยอดสู่ครีมบำรุงผิวจากไผ่ครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไผ่” นับเป็นพืชที่สามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ลำต้นไผ่ ทำมาทำเครื่องสาน หรือเป็นวัสดุต่างๆ , หน่อไผ่ นำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ด้วยเหตุนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีการนำใบไผ่มาวิจัย และพบว่า "ใบไผ่สายพันธุ์ซางหม่น" มีสารประกอบสำคัญ คือ ไอโซออเรียนติน (isoorientin) ที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว จึงได้มาต่อยอดเป็นครีมบำรุง และเป็นการนำสารประกอบจากไผ่มาใช้ประโยชน์ได้เป็นครั้งแรกของโลก


รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ด้วยการค้นพบสาระสำคัญในการนำไปใช้บำรุงผิว ในใบไผ่ซางหม่นนั้น ทางนักวิจัยได้มีการต่อยอด นำสารสกัดไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เซรั่ม ครีมบำรุง โฟมล้าง ครีมกันแดด ในชื่อแบรนด์เครื่องสำอาง “SUCHADA” (สุชาดา) ที่สามารถตอบโจทย์การดูแลผิวพรรณทุกเพศทุกวัย และยังได้มีการตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่เซตละ 1,000 บาท เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบิวตี้โปรดักส์คุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้อีกด้วย


ดร.สุภกร เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ใบไผ่สายพันธุ์ซางหม่น เป็นไผ่ที่พบได้ในประเทศไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโจทย์ของกลุ่มเกษตรกร จ.สระแก้ว ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่ โดยทีมวิจัยด้านเคมีได้ทำการศึกษาทุกส่วนของไผ่ จนพบว่าใบไผ่สายพันธุ์ดังกล่าวมีสารประกอบสำคัญคือ “ไอโซออเรียนติน” (isoorientin) เป็นสารกลุ่มฟลาวโวนอยด์ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (Anti-Bacteria) ชนิด E.coli และ S.aureus สามารถฆ่าเชื้อไวรัส (Anti-Virus) “เดงกี” (dengue virus) ที่นำไปสู่โรคไข้เลือดออกได้ และยังยับยั้งการอักเสบของผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำมาต่อยอดพัฒนาจนออกมาเป็นสกินแคร์ที่มีศักยภาพสูง


ในส่วนการผลิตเครื่องสำอาง ทางทีมวิจัยเป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งใบไผ่ที่จะนำมาสกัดนั้น ทางเกษตรกรต้องทราบหลักในการเก็บ คือ ต้องไม่มีแมลง ไม่เก็บใบไผ่ที่ร่วงลงดินแล้ว และขอให้สังเกตและเก็บใบไผ่ในช่วงใบไม่แก่เกินไป หรือไม่ใช่ช่วงระยะที่เพิ่งออกใบ ซึ่งการกำหนดช่วงระยะเวลาในการเก็บเพราะเป็นช่วงที่สารไอโซออเรียนตินจะมีมากในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็นำมาล้างทำความสะอาด และตากในโรงเรือนแสงอาทิตย์ โดยเกษตรกรจะขายได้ในกิโลกรัมละ 400-500 บาท ซึ่งใบไผ่ 1 กิโลกรัม สามารถสกัดสารอโซออเรียนตินได้ปริมาณ 5 กรัม จากนั้นทางทีมวิจัยก็จะมาเตรียมให้เป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นในระดับหนึ่ง และนำไปใส่ในสูตรเครื่องสำอางตามสูตรวิจัย ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด


เมื่อผ่านทุกกระบวนการจนกลายเป็น ผลิตภัณฑ์ SUCHADA เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้อย่างปลอดภัย ทางคณะฯ ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพ ซึ่งผ่านผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ Biosafety Level 2 และการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวนกว่า 300 ราย ที่ประกอบด้วยเพศชาย เพศหญิง ในกลุ่มอายุต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งพบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน มีการริวรอยที่จาง รอยด่างดำดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น