xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 แนวทางควบคุม "ไข้เลือดออก" รพ.กะปงชัยพัฒน์ ทั้งปีมีผู้ป่วยในตำบลแค่ 1 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.กะปงชัยพัฒน์ ใช้ 4 แนวทางควบคุม "โรคไข้เลือดออก" ในพื้นที่ ส่งผลมีผู้ป่วยน้อย ในตำบลกะปงมีเพียง 1 ราย ระดับอำเภอ 22 ราย ทั้งจังหวัดมี 451 ราย เน้นประเมินพื้นที่เสี่ยง ชี้เป้าทุกสัปดาห์ ประสานท้องถิ่นกำจัดยุงในสถานที่ 7 ร สอบสวนควบคุมโรคทันทีเมื่อมีผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงแนวทางควบคุมโรคไข้เลือดออกของ รพ.กะปงชัยพัฒน์ จ.พังงา ว่า รพ.กะปงชัยพัฒน์ เป็น รพ.ชุมชนดูแลประชาชนในพื้นที่ประมาณ 14,300 คน มีแนวทางในการควบคุมโรคไข้เลือดออกที่เข้มข้น ทั้งการป้องกันโรคล่วงหน้า และควบคุมโรคในพื้นที่ทันทีเมื่อพบผู้ป่วย รวมทั้งทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับ อสม. ท้องถิ่น และแพทย์เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ของ รพ.พี่เลี้ยงใน จ.พังงา ส่งผลให้ไม่พบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.กะปง พบผู้ป่วยเพียง 1 ราย และจากรายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. - 25 ส.ค. 2566 ใน อ.กะปงพบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 22 ราย ส่วนภาพรวมทั้งจังหวัดพังงา มีผู้ป่วยจำนวน 451 ราย

ด้าน นพ.วิเศษ กำลัง ผอ.รพ.กะปงชัยพัฒน์ กล่าวว่า อ.กะปงใช้แนวทางในการควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ครอบคลุม 4 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยทีมตระหนักรู้สถานการณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินพื้นที่เสี่ยง เพื่อชี้เป้าทุกสัปดาห์ รวมทั้งประสานท้องถิ่น เตรียมพร้อมอุปกรณ์ จัดอบรมทีมงานพ่นยุงตัวแก่ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อมีรายงานการเกิดโรค โดยมี อสม. ร่วมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย ทุกวันศุกร์ ในสถานที่ 7 ร ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และสถานที่ราชการ 2.การสอบสวนควบคุมโรค ตามมาตรการ 3-3-1-7-14-21-28 ในการสำรวจ ตรวจจับ ทำลายลูกน้ำยุงลาย เพื่อให้สามารถควบคุมโรคสงบภายใน 28 วัน และออกสอบสวนโรคในผู้ป่วยรายแรกของหมู่บ้าน 3.การตรวจวินิจฉัยและรักษา มีแพทย์เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออกจาก รพ.ตะกั่วป่าเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำปรึกษา จัดอบรมทบทวนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ตลอดจนวางระบบการส่งต่อในเครือข่าย มีการใช้ Dengue chart ในผู้ป่วยที่สงสัยไข้เลือดออก และชุดตรวจ NS1Ab/ IgG /IgM เพื่อการวินิจฉัยเบื้องต้นที่รวดเร็ว และ 4. การสื่อสารความเสี่ยง โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน/ที่ประชุมหมู่บ้าน แจกเอกสารแผ่นพับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก รวมถึงจัดรณรงค์สร้างกระแสให้กับประชาชนในพื้นที่












กำลังโหลดความคิดเห็น