ปลัด สธ.เผย รพ.ชายแดน จ.ตาก 5 แห่ง แบกรับดูแลคนไทย ต่างชาติ กลุ่มไร้สิทธิ หนีภัยสู้รบ รวมกว่า 7 แสนคน ลุยให้บริการเชิงรุกพื้นที่สูง ทุรกะนดาร ตั้งสุขศาลาข้ามแดนพื้นที่รอยต่อ พัฒนา Smart OPD ติดโซลาร์เซลล์ประหยัดไฟ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ รพ.แม่สอด และ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ว่า จ.ตากมีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีช่องทางเข้า-ออก ทั้งทางการและช่องทางธรรมชาติ มีสถานการณ์ผู้หนีภัยจากการสู้รบ และเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมาก รพ.ในพื้นที่ติดชายแดน 5 แห่ง ได้แก่ รพ.แม่สอด รพ.แม่ระมาด รพ.ท่าสองยาง รพ.พบพระ และ รพ.อุ้มผาง จึงต้องดูแลทั้งประชากรไทยในพื้นที่และต่างชาติ เช่น บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและสิทธิ์ คนไทยรอพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่มีประกันสุขภาพ และนักเรียนต่างด้าวที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมกว่า 7 แสนคน
นพ.โอภาส กล่าวว่า พื้นที่แนวชายแดนถือเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงแตกต่างกับพื้นที่ทั่วไป ซึ่งพบว่า รพ. 5 แห่งในชายแดนจ.ตาก ได้พัฒนาการให้บริการตามบริบทพื้นที่ อาทิ บริการเชิงรุกในพื้นที่สูง ทุรกันดาร เฝ้าระวังควบคุมโรคสำคัญที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มผู้หนีภัย มีการจัดตั้ง “สุขศาลาข้ามแดน” ในพื้นที่รอยต่อที่มีการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนมารักษาที่ฝั่งไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันยังพัฒนางานตามนโยบาย ทั้งจัดหาเครื่องมือแพทย์เสริมศักยภาพการให้บริการ ระบบบริการผู้ป่วยนอกแบบ smart OPD การรักษาผ่านแอปพลิเคชันโครงการ “1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟอกไต” ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตตกต้าง ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออนุรักษ์พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่น รพ.แม่สอด ติดตั้งขนาด 300 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 107,436 บาท เป็นต้น
สำหรับปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่พบในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้รากสาดใหญ่ โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และโรคไข้มาลาเรีย โดยข้อมูลล่าสุด ปีงบประมาณ 2566 รวม 9 เดือน รพ.ชายแดน จ.ตาก 5 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยนอกแล้ว 850,059 ราย และผู้ป่วยใน 189,770 ราย