xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้ "ไข้เลือดออก" ช่วงพีค น่าห่วงกว่า "โควิด" คาด ส.ค.-ก.ย.จะเริ่มลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.เผย "ไข้เลือดออก" อยู่ในช่วงพีค คาดจะลดลงช่วง ส.ค. - ก.ย. ขอประชาชนร่วมเฝ้าระวังกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย กรมควบคุมโรคเผยป่วยแล้ว 46,855 ราย ตาย 41 ราย ด้านกรมการแพทย์ชี้สถานการณ์น่าห่วงกว่า "โควิด" ตอนนี้ กลุ่มผู้ใหญ่เจอป่วยรุนแรงมากขึ้น ย้ำอย่าซื้อยากินเอง

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า กรมควบคุมโรคอัปเดตสถานการณ์อยู่ตลอด ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงพีค คือ ช่วงที่มีการป่วยสูงสุดของการระบาด ตนกำลังจับตาดูว่าจะพีคมากน้อยอย่างไร ซึ่งตามธรรมชาติเมื่อการระบาดพ้นช่วงพีคแล้ว ผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงเป็นช่วงขาลง ขณะเดียวกันธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกมักจะค่อยๆ ลดลงในช่วง ส.ค. - ก.ย. ที่เป็นช่วงขาลง เท่าที่จับตาดูพบว่า รูปแบบการระบาดเปลี่ยนไป จากเดิมที่เราจะพบผู้ป่วยมากในวอร์ดเด็ก แต่ปีนี้วอร์ดเด็กไม่มาก แต่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อาจเพราะสาเหตุเด็กเกิดน้อยลง ทำให้กลุ่มเป้าหมายการติดเชื้อน้อยลง


เมื่อถามว่าช่วงหยุดยาวคนไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นหรือไม่ ต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้น กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังตามระบบโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่ประชาชนมีส่วนสำคัญช่วยกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในชุมชน จึงอยากเน้นย้ำให้มีการดูแลจุดเสี่ยงต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น แจกัน กระถางรองต้นไม้ และจุดที่มีน้ำขัง หากมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ก็ขอให้ไปพบแพทย์ ถ้าไปพบครั้งแรกไม่หาย ก็ยังต้องไปพบเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจให้ละเอียดอีกครั้ง และอย่าไปซื้อยาแอสไพรินหรือยากลุ่มเอ็นเสดมากินเอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ปีนี้เป็นไข้เลือดออกมากกว่าเด็กชัดเจน

นายอภิญญา นิรมิตสันติพงศ์ รอง ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดอออกล่าสุดแนวโน้มผู้ป่วยยังคงสูงอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณ 4-5 พันราย จำนวนผู้ป่วยยังไม่ลดลง โดยพบผู้ป่วยกระจายทั่วประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้เลือดออกเป็นรายสัปดาห์ และต้องจับตาดูแนวโน้มใน ส.ค. โดยข้อมูลสัปดาห์ที่ 29 คือถึงวันที่ 26 ก.ค. 2566 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 46,855 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 5,328 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย อัตราการป่วยร้อยละ 70.80 เสียชีวิตสะสม 41 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 เฉพาะ ก.ค. มีผู้ป่วยจำนวน 12,525 ราย ถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1.7 เท่า ผู้ป่วยอายุมากสุด 98 ปี ช่วงอายุที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 5 -14 ปี รองลงมา 15 -24 ปี และวัยทำงาน 25-34 ปี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย และเป็นช่วงอายุที่พบอัตราป่วยตายมากที่สุดคือ 14 ราย ส่วนผลสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานหลายพื้นที่ ส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ร้อยละ 38.2 เป็นเชื้อไวรัสเดงกี 1 รองลงมาร้อยละ 26.5 เป็นเชื้อไวรัสเดงกี 3 และร้อยละ 20.6 เป็นเดงกี 2


ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สธ.มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ทุกเดือน แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลง สายพันธ์ุหลักที่ระบาดขณะนี้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานยังเป็นโอมิครอน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งไม่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดเข็มกระตุ้น จึงรณรงค์ให้ไปฉีด ขณะที่การรักษาผู้ป่วยมีการออกแนวเวชปฏิบัติให้ รพ.ถือปฏิบัติไปแล้ว ส่วนใหญ่อาการไม่มากเหมือนไข้หวัด มีไข้ ไอ บางคนเจ็บคอ รักษาตามอาการ จริงๆ ที่น่าห่วงขณะนี้คือ โรคไข้เลือดออก อาการแรกเริ่มจะมีไข้สูงลอย จะคล้ายโควิด 19 หรือไข้หวัดใหญ่ และจะมีจ้ำเลือด เกิดได้กับทุกวัย ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุพบมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันลด มีการติดเชื้อ สงสัยไม่ใช่ไข้เลือดออกจึงไม่ระวัง บางรายไปซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสดที่เป็นข้อห้าม จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น ทั้งคนที่เคยเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้ โดยไข้เลือดออกขณะนี้มี 4 สายพันธ์ุ หากสงสัยให้รีบพบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง ระวังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น