xs
xsm
sm
md
lg

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนิน เปิดอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค พร้อมกดปุ่มปล่อยพลาสมาจากเครื่องโทคาแมคครั้งแรกในประเทศไทยและในอาเซียน และทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีฟิวชัน ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นการส่วนพระองค์

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เวลา 13.30  น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อทรงเปิดอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค พร้อมกดปุ่มปล่อยพลาสมาจากเครื่องโทคาแมคครั้งแรกในประเทศไทยและในอาเซียน และทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีฟิวชัน ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายจุฑา เที่ยงธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครนายก พลตรีไพรัช แก้วศรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 12  พลตำรวจตรีภูมินทร์ สิงหสุต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก H.E. Mr. Han Zhiqiang เอกอัครราชฑูตจีนประจำประเทศไทย ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขามูลนิธิสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และผู้บริหารระดับสูงจาก Chinese Academy of Science เฝ้าฯ รับเสด็จ

อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมคแห่งนี้ เป็นอาคารเพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องโทคาแมค Thailand Tokamak-1 หรือ TT-1 ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สทน. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเครื่องโทคาแมคของไทยและระบบสนับสนุนของเครื่องโทคาแมค จากชิ้นส่วนหลักของเครื่องโทคาแมค HT-6M ที่ได้รับมอบจาก สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) รวมทั้ง ยังได้รับสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจำนวนประมาณ 100 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณเพื่อพัฒนาระบบวิศวกรรมต่อยอดและนวัตกรรมสำหรับเครื่องโทคาแมค จำนวน 54 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโทคาแมค อีกจำนวน 46 ล้านบาท เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 ชั้น แบ่งเป็นส่วนสำนักงานและส่วนปฏิบัติการ โดยส่วนปฏิบัติการ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 670 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับติดตั้งเครื่องโทคาแมค

สำหรับเครื่อง Thailand Tokamak-1 ที่ติดตั้งอยู่ในอาคารแห่งนี้ หลังจากได้รับมอบชิ้นส่วนหลัก จาก สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ เพื่อให้นำมาใช้ศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อสร้างให้เกิดพลาสมาอุณหภูมิสูง ซึ่งเป็นการจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่เกิดตามธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลก ก่อนดำเนินการส่งมอบเครื่อง ASIPP ได้มีการฝึกอบรมให้กับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวไทย จำนวน 9 คน เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ทางทฤษฎีและวิธีการใช้งานเครื่องอย่างครบถ้วน โดยเครื่องโทคาแมคที่ส่งมอบมา ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 462 ชิ้น มีน้ำหนักมากกว่า 84 ตัน ส่งมายังประเทศไทย เพื่อติดตั้งในอาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย นับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเครื่อง TT-1 การดำเนินการติดตั้งเป็นไปตามแผนงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกรจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน ร่วมด้วยทีมงานจากศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง ของ สทน. และทีมวิศวกรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยช่วงแรกทีมงานร่วมกันประกอบชิ้นส่วนของเครื่องเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงดำเนินการเกี่ยวกับระบบ power supply ปัจจุบันการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 องศาเซลเซียส และ สถาบันฯ มีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมาด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1,000,000 องศาเซลเซียส และภายใน 10 ปี จะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเองโดยจะใช้เทคโนโลยี Superconducting magnet เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้นสำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10,000,000 องศาเซลเซียสได้

สำหรับการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และการนำพลาสมาไปใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ และจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทำให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยได้ในอนาคต