อภัยภูเบศร เผยงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" แม้ไม่ได้ป้องกันปอดอักเสบโควิด แต่พบค่าการอักเสบในเลือดลดลง ส่วนค่าตับเพิ่มเกิน 3 เท่า พบเพียง 2 ราย กลุ่มได้ยาหลอกก็พบ 1 ราย แต่หลังผ่านไป 28 วันค่าตับปกติทั้งหมด ย้ำยาทุกตัวมีผลต่อตับเหมือนกัน พบผู้ประกอบการเริ่มรับผลกระทบ นักวิชาการชี้อย่าตัดสินด้อยค่า "ฟ้าทะลายโจร" ด้วยงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว
จากกรณีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดผลวิจัยการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือลดอาการและลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ และทำให้ตับอักเสบ โดยมีพื้นที่การศึกษาที่สระบุรีและปราจีนบุรี ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกระบุชัดว่ายังใช้ได้ผลดี
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วย ผอ.ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีผลการวิจัยเมื่อช่วงกลางปี 2564 ว่า ฟ้าทะลายโจรป้องกันปอดอักเสบ ทำให้มีการศึกษาเพิ่มเติม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กับทีมวิจัย จ.สระบุรี จึงมาศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยอภัยภูเบศรทำการศึกษาตั้งแต่ ต.ค. 2564 ศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 30-31 ปี จำนวนประมาณ 270 คน กินยาฟ้าทะลายโจรรูปแบบผงที่มีความเข้มข้นปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน แบ่งเป็นกลุ่มกินฟ้าทะลายโจรและกลุ่มยาหลอก โดยเป็นกลุ่มไม่มีอาการ 25% นอกนั้นเป็นกลุ่มอาการน้อย ส่วนใหญ่ได้รับยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก โดยหลังจากให้กินฟ้าทะลายโจรก็จะมีเก็บตัวอย่างค่าตับ ค่าไต ตามเวลากำหนด ส่วนสระบุรีศึกษาช่วง ธ.ค. 2564
“ผลศึกษาพบว่า ไม่ได้ป้องกันปอดอักเสบ ไม่สามารถลดปริมาณเชื้อ แต่ที่อภัยภูเบศรพบสารบ่งชี้ค่าการอักเสบในเลือดสัดส่วนที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจพลาสมาที่นำเลือดคนไข้มาตรวจพบว่า มีโปรตีนที่ลดการเกิดลิ่มเลือด แต่สิ่งที่พบต้องค้นหาวิจัยเพิ่มเติม” ภญ.ผกากรอง กล่าว
ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัย ทั้งสองกลุ่มวิจัยพบว่า กลุ่มได้รับฟ้าทะลายโจรมีอาการไม่พึงประสงค์สูงกว่าคนได้ยาหลอก แต่ไม่มีนัยสำคัญ ส่วนค่าตับ พบว่าในกลุ่มฟ้าทะลายโจรผู้ป่วยค่าตับสูงกว่ามาตรฐาน 3 เท่า 2 ราย แต่กลุ่มได้ยาหลอกก็พบค่าตับเกินมาตรฐาน 3 เท่าเช่นกัน 1 ราย ซึ่งทั้งสามคนได้ออกจาก รพ.ในวันที่ 10 ของการรักษา แต่ต่อมาในวันที่ 28 ของการศึกษามาตรวจซ้ำพบ ค่าตับเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ค่าตับที่สูงขึ้นเราจะดูอาการแสดงทางคลินิก เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง แต่หากค่าตับสูงเกินไป 2-3 เดือนยังไม่ลง ถอนยาแล้วก็ยังไม่ลงก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร
"ฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ว่าไม่มีผลต่อตับ แต่เวลาเราใช้ยาทุกตัวหรือแม้แต่ยาลดไขมันก็พบว่า ทำให้ตับอักเสบได้ แต่เราต้องให้ เพราะไขมันสูงอันตราย ซึ่งผลข้างเคียงไม่ได้เกิดทุกราย และมีมาตรฐานกำกับในการตรวจค่าตับค่าไต ส่วนกรณีฟ้าทะลายโจร ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม ก็ไม่ได้กินจนถึงขนาดนั้น ก็กินตามอาการได้ อย่างของอภัยภูเบศร 1 แคปซูลมี 12 มิลลิกรัม เมื่อคูณจำนวนวันที่กินจะไม่ถึง 180 มิลลิกรัม จากการติดตาม รพ.ที่มีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรพบว่า คนไข้ไม่มีอาการหรือค่าตับเกิน" ภญ.ผกากรองกล่าวและว่า ตั้งแต่มีข่าวส่งผลกระทบมาก เพราะมีผู้ประกอบการที่ผลิตฟ้าทะลายโจรต่างสอบถามมาทางอภัยภูเบศรว่า ทำไมผลวิจัยออกมาเป็นแบบนี้ บาง รพ.มีการคืนยา เพราะข่าวออกมาบอกว่า ไม่ช่วยอะไร มีผลต่อตับ ซึ่งเราก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจเรื่องนี้
สำหรับเวทีประชุมวิชาการ “สมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด กล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าวตนดำรงตำแหน่ง รอง นพ.สสจ.สระบุรี เป็นผู้วิจัยในโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. ยืนยันว่า การศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้กระบวนการวิจัยทางคลินิกที่เป็นตามมาตรฐานสากล มีการเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัย โดย จ.สระบุรี มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ 396 คน ปราจีนบุรี 271 คน มีวิธีการเก็บข้อมูลเหมือนกัน แต่ใช้รูปแบบยาต่างกัน โดยสระบุรีใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ปราจีนบุรีใช้ยาแคปซูลผงบดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 5 วัน ส่งผลให้เกิดค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น จึงได้หยุดเก็บข้อมูลพร้อมเสนอให้มีคำเตือนในกรณีที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรควบคู่กับยาชนิดอื่น อาจส่งผลให้เอนไซม์ตับสูงขึ้นได้ ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งความปลอดภัยและประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ที่เหมาะสมต่อไป
ดร.ภญ.วิวรรณ วรกุลพาณิชย์ เภสัชกรชำนาญการ กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูง และไม่มีรายงานที่ร้ายแรงเลย อันตรายที่อาจพบได้จากการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ผู้ป่วยต้องสังเกตคือการแพ้ ที่มีรายงานอยู่บ้างดังนั้นในผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ จากข้อมูลที่รวบรวมมาจากงานวิจัย 10 ชิ้นและฐานข้อมูล 3 ฐาน พบว่า อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 100,000 คน พบได้ 2 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านไวรัสแผนปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่
รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในทุกแง่มุม ในการใช้ต่อผู้ป่วยทั้งผงบดและสารสกัด มีงานวิจัยถึง 15 ฉบับ รวมถึงได้ศึกษางานวิจัยจากทั่วโลกอีกนับพันฉบับ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่พบว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับ จะมีเพียงในสแกนดิเนเวียนที่เตือนให้ระวัง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอย่างเป็นระบบก็พบว่าประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน เรามีของดีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ อยากฝากไว้ว่า งานวิจัยก็ตอบแค่คำถามวิจัย แต่การนำมาใช้จริงต้องนึกถึงหลายปัจจัย เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ที่เขาไม่มีเงิน ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายราคาถูกและได้ผล ยาที่กินเข้าไปเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันมีผลต่อร่างกายทั้งบวกและลบ แต่ถ้าประโยชน์มากกว่า ใช้อย่างเหมาะสมก็ไม่ต้องกังวล และต้องมีการศึกษายาที่ใช้ควบคู่กับฟ้าทะลายโจรด้วย ว่าส่งผลต่อค่าตับด้วยไหมและสื่อสารทั้งสองด้าน
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเจ็บปวด เพราะอยู่กับฟ้าทะลายโจรมานานและใช้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่ไข้หวัดสายพันธุ์ 2009 หรืออีโบลา ไม่ว่าจะเกิดโรคอุบัติใหม่อะไรที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ฟ้าทะลายโจรจะถูกนำมาใช้หมด จึงได้เริ่มศึกษาวิจัย ทบทวนวรรณกรรมจากทั่วโลก และใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่คลุกคลีกับชาวบ้านที่ใช้มาโดยตลอด ในช่วงที่เกิดโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีวัคซีนตนเองก็ได้รวบรวมข้อมูลเสนอให้โรงพยาบาลนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับราคายาแผนปัจจุบันพบว่ามันต่างกันมากจริงๆ ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ราคา 80-150 บาท/คอร์สการรักษา ส่วนแผนปัจจุบันมี ฟาวิพิราเวียร์ ราคา 2,000-5,000 บาท/คอร์สการรักษา ถ้าเรารวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำมาใช้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มากทีเดียว
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีหลายสายพันธุ์มากและเรากำลังจะเป็นเจ้ายุทธจักรในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีการทำวิจัยในหลายแขนง ทั้งในเรื่องภูมิคุ้มกัน และลดปอดอักเสบจากคนไข้ในช่วงที่ไม่ได้วัคซีนที่คนไข้รอตรวจ รอเตียง รอตาย ชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงยาก็คว้าฟ้าทะลายโจรมารักษาและก็ช่วยได้จริง เชื่อว่าวันนี้มีคนไข้จำนวนมากที่สามารถแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวให้เราได้ จากประสบการณ์ของอภัยภูเบศรที่สนับสนุนยาฟ้าทะลายโจรในช่วงสถานการณ์โควิด ก็ไม่มีใครเสียชีวิต โดยส่วนตัวจึงขอสรุปว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นอาวุธของประชาชน ในการรับมือโรคอุบัติใหม่
ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก กล่าวว่า คนที่มีความรู้ มีปัญญา อย่าไปตัดสินใครในงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ใครบอกอะไรอย่าไปเชื่อในทันที เพราะกระบวนการวิจัยมีขั้นตอนอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งคำถามซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการทำวิจัย หลังจากนั้นการออกแบบการวิจัยเพื่อมาตอบโจทย์ก็ต้องเหมาะสม ตัวอย่างในงานวิจัยนี้ เราสนใจความปลอดภัยของตับ ดังนั้นเราควรดูว่ามีผู้ป่วยกี่รายที่ได้ยาแล้วค่าเอนไซม์สูงกว่ามาตรฐาน และมีกี่รายที่มีอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของตับ ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะไปนำค่าเอนไซม์ตับมาหารเฉลี่ยกัน เพราะในทางคลินิกเรารู้กันอยู่ว่าค่าตับมันขึ้นๆ ลงๆได้ แต่ควรต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ประเด็นการนำไปใช้ต้องมีคำแนะนำที่เหมาะสมกับบริบท จะมาบอกว่าอย่าใช้เลยไม่มีประโยชน์ไม่ได้ เพราะในทางปฏิบัติผู้ป่วยก็มีอาการแตกต่างกันไป การวิจัยก่อนหน้าก็บอกว่าใช้บรรเทาอาการ ลดความรุนแรงได้ แล้วเราจะปิดกั้นการใช้ประโยชน์ของผู้ป่วยจากผลของการวิจัยเดียว เช่นนี้หรือ ส่วนตัวแล้วทำงานวิจัยมามาก เราดูข้อมูลครบถ้วนและสื่อสารชัดเจน