พลังงานจากกังหันน้ำ ถือเป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพลังงานที่เป็นมิตรและไม่สร้างมลภาวะใดๆ ที่กระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังลดต้นทุนได้อย่างมาก เนื่องจากทรัพยากรที่นำมาผลิตนั้นสามารถหาได้จากธรรมชาติ เหมือนอย่างเช่นที่ หมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้มีการนำกังหันมาผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในพื้นทีที่ไฟฟ้ายังไม่สามารถเข้าถึง
ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า พื้นที่หมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทือกเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวเทือกเขาสำคัญของภาคใต้ และยังมีสำรวจว่าพื้นที่แห่งนี้มีฝนตกในปริมาณที่มากที่สุดในประเทศ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ มีทรัพยากรน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี
ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ขาดแคลนน้ำ แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังมีสิ่งที่ขาด นั้นก็คือ “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งในบางพื้นที่ของหมู่บ้าน เช่น บริเวณสวนที่อยู่ลึกเข้าไปตามแนวเทือกเขายังคงไม่มีฟ้าเข้าถึง
ด้วยภูมิปัญญาแต่เก่าก่อน ในการใช้ท่อส่งน้ำจากต้นน้ำที่อยู่สูงขึ้นไปบนเขา ลงมายังที่ต่ำเพื่อใช้ในการรดน้ำต้นไม้ในสวนผลไม้ หรือใช้อุปโภคบริโภค ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้เห็นช่องทางในการผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านคีรีวง จึงได้นำนวัตกรรม “กังหันน้ำคีรีวง” มาพัฒนาต่อยอดสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประสิทธิภาพสูง ตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลจากพลังงานสะอาด
ด้วยหลักการทำงานง่ายๆ ตามทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโลก น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำยิ่งสูงยิ่งไหลแรง ประกอบกับภูมิปัญญาการต่อท่อส่งน้ำของผู้คนในหมู่บ้านที่มีมาก่อนแล้ว การผลิตไฟฟ้าจึงใช้แรงน้ำจากท่อน้ำ เปลี่ยนทิศทางน้ำเข้าสู่กังหันน้ำคีรีวง จากนั้นกังหันก็จะหมุนปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่สะอาดไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม และน้ำที่ผ่านกังหันก็ออกมาทางท่อน้ำทิ้งซึ่งจะไหลกลับสู่ธรรมชาติ หรือถูกใช้เพื่อรดต้นไม้ในสวน ตามวิถีชีวิตดั่งเดิมของคีรีวง
ปัจจุบันกังหันน้ำคีรีวงถูกใช้มาแล้วเกือบ 20 ปี นับเป็นนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ผู้คนในชุมชนได้อย่างถั่วถึงและตรงจุด และมีจุดเด่นสำคัญคือ มีขนาดเล็ก มีความทนทาน ใช้งานดูแลรักษาง่าย รวมถึงมีค่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานน้ำเป็นไฟฟ้าค่อนข้างสูง ต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอด 20 ปี ไม่เกิน 40,000 บาท จะใช้เวลาคุ้มทุนในเวลาไม่ถึง 2 ปี เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟซึ่งตลอด 20 ปี จะมีค่าน้ำมันหลายแสนบาท
จากงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี ได้กลายมาเป็นการพัฒนานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรของหมุ่บ้านคีรีวง ปัจจุบันนี้กังหันน้ำคีรีวงกำลังได้รับการเป็นต้นแบบที่จะขับเคลื่อนชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช สู่เครือข่ายการจัดการน้ำและพลังงานสะอาดที่จะช่วยทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นแหล่งทรัพยากรที่จะสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน