xs
xsm
sm
md
lg

รบ.แจงโครงสร้างค่าไฟ ย้ำหาแนวทางช่วย ปชช.ตลอด วางแผนสำรองไฟฟ้าสร้างความมั่นคงพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล ชี้แจงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 55 จนถึงปัจจุบัน ยัน รบ.ประยุทธ์ หาแนวทางแก้ปัญหาช่วยเหลือปชช.มาตลอด วางแผนการสำรองไฟฟ้าด้วยการเพิ่มการจัดหาและรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

วันนี้ (24 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 จากฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เป็นฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 �ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ตั้งแต่ปี 2555-2569 (โดยในปี 2557-2558 GDP มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.7-6.0 ตามเศรษฐกิจโลกในช่วงขาขึ้นในขณะนั้น) ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้นตาม GDP ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นจึงได้เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (ปี 2555) ซึ่งรวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW (จ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564-2569 ปีละ 900 MW) เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15-24 และต่อมารัฐบาลได้เปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 5,400 MW ดังกล่าว ในปี 2555

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้พยายามที่จะทบทวนความจำเป็นของโครงการโรงไฟฟ้า IPP 5,400 MW ดังกล่าว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงนามผูกผันไปแล้ว (ตามคำตัดสินของศาลปกครอง) ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ทบทวนแผน PDP ใหม่อีกครั้ง ซึ่งพบปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1) อัตราความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ ซึ่งทำให้ Reserve Margin % ณ ปี 2558 ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 กลายเป็นร้อยละ 30 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
2) โรงไฟฟ้าที่อนุมัติไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อม หรือ Availability Payment (AP) โดยกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาระยะยาว
3) แผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานน้ำมีจำกัด และมีการเพิ่มพลังงานจาก fossil ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ซึ่งจากประเด็นข้างต้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรจากรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ฯ จึงได้จัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2015) (ปี 2558) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้มีการปรับแผน PDP อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน คือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 เพื่อให้แผนการจัดหาไฟฟ้าสะท้อนภาพความเป็นจริงและสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศมากที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2565 Reserve Margin % อยู่ที่ร้อยละ 36 เนื่องจากระหว่างปี 2563 – 2565 ไทยและทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ (แม้ว่าจะปรับทอนลงไปแล้วบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตอนจัดทำแผน PDP 2015 และ 2018 ใหม่แล้ว) ในขณะที่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผน PDP ก่อนหน้านี้ ได้ผูกมัดการดำเนินการต่างๆ ไปหมดแล้ว โดยมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 เป็นไปต้นไป ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม

จากกรณีดังกล่าว ในช่วงแรก รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างค่าไฟ เพื่อลดภาระของประชาชน ดังนี้
1) ลดค่าไฟฟ้าฐานลง จาก 3.77 บาท/หน่วยเป็น 3.75 บาท/หน่วย และคงค่าไฟฟ้าฐานในอัตราดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558) โดยเป็นการปรับลดวงเงินลงทุนและรายได้ของของ 3 การไฟฟ้าลง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
2) ทยอยปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร Ft ลงจาก 0.69 บาท/หน่วย ในช่วงปี 2557 เป็น ต่ำกว่า 0 บาท/หน่วย ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2564 เพื่อเป็นการบรรเทาอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการประมาณการที่ผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดค่า Ft ต่ำกว่า 0 ในช่วงเวลาดังกล่าว อาศัยแหล่งเงินจากเงินบริหารค่า Ft และเงินของทั้งสามการไฟฟ้า ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังมีวงเงินคงเหลือในระดับที่สามารถนำมาใช้ได้ (แต่ปัจจุบัน เงินคงเหลือของทั้งสามการไฟฟ้าได้หมดลงแล้ว เนื่องจากได้นำไปอุดหนุนค่าไฟให้กับประชาชนในช่วงโควิดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง)

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จึงได้เร่งดำเนินการเพิ่มการจัดหาและรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการต่างๆ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เพิ่มเติม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ปี 2562-2565 และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงระหว่างปี 2565-2573 ซึ่งโครงการที่ได้อนุมัติและดำเนินการในช่วงดังกล่าว มีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่าการรับซื้อจากโรงไฟฟ้า IPP ของเอกชนอย่างมาก และจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตหากวิกฤตราคาพลังงานยังคงส่งผลต่อเนื่อง หรือก๊าซในอ่าวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลการดำเนินงานดังกึสามารถทำให้อัตราส่วนของพลังงานหมุนเวียนปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 33 ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 52 ในปี 2580

ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (ปี 2563) ตามที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ฯ ได้วางแผนไว้ จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580 สะท้อนถึงการวางแผนระยะยาวในการลดปริมาณการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2564 - ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจมาโดยตลอด เช่น การตรึงค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน)

“รัฐบาลรับทราบข้อกังวล และไม่นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอทำความเข้าใจถึงปัจจัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต การดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงข้อเท็จจริงเรื่องแผนการจัดการไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งกระบวนการในส่วนที่รัฐสามารถจัดการได้ตามกรอบระเบียบและกฎหมาย รวมถึงกรอบการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักสากล และที่สำคัญ รัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการช่วยเหลือของรัฐบาลนั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ว่าแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการวางแผนในระยะยาว ทั้งนี้ ขอยืนยันแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเรื่องค่าไฟฟ้าในขั้นตอนต่อไป” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น