นับตั้งแต่มีการระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีล ที่ตั้งอยู่ประเทศยูเครน การรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิ อีกทั้งในช่วงนี้ที่ประเทศไทยได้มีข่าวการหายไปของ ซีเซียม-137 หนึ่งในกัมมันตรังสี แต่ได้มีการตรวจพบเจอแล้ว จากข่าวที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราได้รับรู้ว่าในปัจจุบันกัมมันตรังสีนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว
Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ “กัมมันตรังสี” ธาตุที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ที่มีอยู่รอบตัวเรา
ธาตุกัมมันตรังสี (Radioactive Element) มีการค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ อองตวน อองรี เบ็กเคอเรล (Antoine Henri Becquerel) ในปีค.ศ. 1896 ซึ่งเป็นการค้นพบอย่างบังเอิญเนื่องจากพบฟิล์มถ่ายรูปที่เก็บไว้กับธาตุยูเรเนียมและนำมาห่อด้วยกระดาษสีดำ มีคุณลักษณะเปลี่ยนไปกลายเป็นมีลักษณะเดียวกันกับฟิล์มรับแสง ดังนั้นเบ็กเคอเรลจึงได้จำลองการทดลองโดยนำธาตุยูเรเนียมชนิดอื่นมาทดลองก็ได้ผลเช่นเดียวกัน จึงสามารถสรุปได้ว่ามีการแผ่รังสีออกมาจากธาตุยูเรเนียม
ในเวลาต่อมา ปีแอร์ คูรี และ มารี คูรี (Pierre Curie and Marie Curie) ได้มีการค้นพบเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแค่ธาตุยูเรเนียมเท่านั้น ธาตุชนิดอื่นก็สามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกัน และยังพบอีกว่า การแผ่รังสีนี้สามารถเปลี่ยนธาตุดังกล่าวเป็นธาตุอื่นได้ด้วย
เนื่องจากธาตุกัมมันตรังสีมีนิวเคลียสของอะตอมไม่เสถียร จึงเป็นธาตุที่แผ่รังสีได้ เช่น รังสีแอลฟา รังสีบีต้า และ รังสีแกมมา ออกมาจากกระบวนการสลายตัวของธาตุหรือไอโซโทป ซึ่งรังสีที่แผ่ออกมานั้นเป็นพลังงานชนิดหนึ่งเรียกว่ากัมมันตภาพรังสี
สารกัมมันตรังสีนั้นมีอานุภาพสูงและสามารถทะลุทะลวงได้ด้วย เช่น รังสีแกมมาสามารถทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกาย หรือสามารถทำลายกระดูกและผิวหนังได้ ถึงแม้ว่าสารกัมมันตรังสีจะมีความอันตรายมาก แต่ปัจจุบันก็ได้นำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น การแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธรณีวิทยา
สำหรับ "ซีเซียม-137" (Caesium-137) ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นั้น เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ธาตุลำดับที่ 55 มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก โดยส่วนมากนิยมนำมาใช้ทางอุตสาหกรรม เช่น วัดความหนาของวัสดุ วัดการไหลของของเหลว เครื่องวัดความชื้น ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน
ในเรื่องของอันตรายเมื่อได้รับเข้าไปในร่างกายซีเซียมสามารถกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่กล้ามเนื้อและกระดูก บางส่วนจะไปอยู่ในตับและไขกระดูก และจะเริ่มแสดงอาการทางระบบต่างๆ เช่น ผิวหนัง ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : scimath.org / fisheries.go.th