เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566, แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมมือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Carbon Neutral Tourism) “พัฒนาพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน บนฐานคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ณ จ.พิษณุโลก ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยว คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ หลังจากได้มีการดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายพชรเสฏฐ์ ศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการหาแนวทางขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดจนถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งงานการแสดงนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จะได้สร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และยังเป็นการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในปี 2564 และ ปี 2565 ร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจต่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาวอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า สกสว. และกองทุน ววน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.ราว 190 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีระบบ การติดตามประเมินผลและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร
แผนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก “แผนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและคนในภาคการท่องเที่ยว คือ 1)การท่องเที่ยวบนฐานมรดกชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2)การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 3)การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกลุ่มที่ 2 “แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์” มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์
กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการทำงานตามกรอบความร่วมมือ (MOU) 8 องค์กรพันธมิตรจาก 3 กระทรวง บูรณาการ/ขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย 8 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน ประกอบด้วย สกสว. บพข. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่มีกลไกการทำงานร่วมกัน โดย อบก. สนับสนุนให้เกิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) ทั้งในการเดินทาง ที่พัก อาหาร การจัดการของเสีย ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเพิ่มเติม PCR ของกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เป็นต้น โดยเน้นการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
“จังหวัดพิษณุโลก จัดเป็น MICE City จังหวัดที่ 9 มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันงดงาม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บพข. ได้สนับสนุนงานวิจัยให้ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มที่ต้องการพักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่ม MICE นักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม Tourism for all กลุ่มท่องเที่ยวที่รักษ์ธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวในสวนผลไม้ ที่มีการคิด การลด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนและขยายผลบอกต่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจกระบวนการ ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกบูธแสดงผลงานจากวิจัยจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยพะเยา และบูธจากวิสาหกิจชุมชน ของดีในชุมชนภาคเหนือ จำนวน 13 บูธ คือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านวังส้มซ่า สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง หรือ จำปุยโฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บัวกว๊านพะเยา กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนชมภู วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินกระบาก วิสาหกิจชุมชน คนเอาถ่านบ้านเขาปรัง วิสาหกิจชุมชนเมืองหมักพิศโลก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงเวียน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองกุลา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยลื้อเชียงคำ จ.พะเยาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง และชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี