xs
xsm
sm
md
lg

กลับมาครองแชมป์! นักดาราศาสตร์พบ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี เพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ยอดดาวบริวารเพิ่มขึ้นทะลุ 92 ดวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายๆ คน ต่างรู้กันว่า “ดาวพฤหัสบดี” และ “ดาวเสาร์” เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อันดับ 1 และ อันดับ 2 ของระบบสุริยะจักรวาลของเรา และดาวสองดวงนี้ ก็ยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด โดยในแต่ละปีเหล่านักดาราศาสตร์ต่างก็มีการค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ๆ ของดาวยักษ์ใหญ่ทั้งสองดวง ซึ่งทำให้จำนวนของดาวบริวาร มีมากขึ้นในทุกๆ ปี และยังชิงอันดับ 1 ในการมีดาวเคราะห์บริวารมากที่สุดกันไปมาอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ ดาวพฤหัสบดีได้กลับมาเป็นแชมป์อันดับ 1 ในการมีดาวเคราะห์บริวารมากที่สุด เนื่องจากนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวยักษ์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เพิ่มขึ้น อีก 12 ดวง หลังจากหลายสิบปีที่ผ่าน ดาวเสาร์ได้ครองอันดับ 1 ในการมีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด คือ 83 ดวง โดยมี “ดวงจันทร์ไททัน” โดดเด่นที่สุดในบรรดาทั้ง 83 ดวงนี้


การค้นพบดวงจันทร์บริวารใหม่ของดาวพฤหัสบดีทั้ง 12 ดวงนั้น ถูกค้นพบโดย สก็อต เชปเพิร์ด ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ที่ได้ได้ทยอยเผยแพร่ข้อมูลวงโคจรของบริวารที่เพิ่งพบใหม่ของดาวพฤหัสบดีมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และคาดการว่ายังจะมีการค้นพบมีดวงจันทร์ดวงอื่นตามมาอีกในไม่ช้า การค้นพบนี้ทำให้จำนวนของบริวารดาวพฤหัสบดีมีมากถึง 92 ดวงแล้ว ซึ่งมากที่สุดในระบบสุริยะ ส่วนดาวเสาร์แชมป์เก่า ปัจจุบันมีบริวารที่พบแล้ว 83 ดวง

นอกจากการค้นพบบริวารดวงใหม่ของดาวพฤหัสบดีแล้ว สก็อต เชปเพิร์ด ยังค้นพบดวงจันทร์ เอส/2003 เจ 10 (S/2003 J10) ซึ่งสาบสูญไปกลับมาอีกด้วย
สำหรับข้อมูลดวงจันทร์ที่พบใหม่ทั้ง 12 ดวงนั้น มีรายงานว่า มีขนาดเล็กและมีวงโคจรกว้าง มีคาบโคจรมากกว่า 340 วัน และมีมากถึง 9 ดวงที่มีคาบโคจรเกิน 550 วัน คาดว่าดวงจันทร์ที่มีวงโคจรกว้างนี้เป็นวัตถุต่างถิ่นที่พลัดเข้ามาใกล้แล้วถูกดาวพฤหัสบดีคว้าจับเข้ามาเป็นบริวาร ดังจะพบว่าบริวารเหล่านี้มีวงโคจรถอยหลัง (สวนทางกับทิศทางการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี) และมีขนาดเล็ก ซึ่งบริวารขนาดเล็กเหล่านี้ อาจเป็นผลจากวัตถุขนาดใหญ่ที่ชนกับวัตถุอื่นแล้วแตกออกมาเป็นดวงเล็กดวงน้อย


ดวงจันทร์บริวารใหม่ทั้ง 12 ดวงนั้น มีเพียง 3 ดวงที่มีวงโคจรเดินหน้า (โคจรไปในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี) และมีวงโคจรไม่กว้างมากนัก บริวารในกลุ่มนี้คาดว่าเป็นบริวารดั้งเดิมของดาวพฤหัสบดี การค้นหาบริวารที่มีวงโคจรแคบทำได้ยากกว่าพวกที่มีวงโคจรกว้าง เพราะการที่อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี ทำให้มักถูกแสงจ้าจากดาวพฤหัสบดีมากลบไปโดยง่าย


การค้นหาดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์นั้นทำได้ยากกว่าการค้นหาดาวเคราะห์น้อย เพราะดวงจันทร์ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ภายใต้อิทธิพลของทั้งดาวเคราะห์และดวงอาทิตย์ การบันทึกตำแหน่งเพื่อนำไปคำนวณหาวงโคจรต้องใช้เวลาครบรอบการโคจรซึ่งกินเวลานานข้ามปี ในขณะที่การค้นหาดาวเคราะห์น้อยทำได้ง่ายกว่า เพราะดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่ภายใต้อิทธิพลของดวงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว การสังเกตการณ์และบันทึกตำแหน่งภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็เพียงพอที่จะใช้คำนวณหาวงโคจรได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวเสาร์ที่เพิ่งเสียแชมป์ไป ก็อาจทวงคืนตำแหน่งได้ในไม่ช้า เพราะบริเวณรอบดาวเสาร์มีวัตถุขนาดเล็กระดับกิโลเมตรอยู่มากกว่าดาวพฤหัสดีมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าดาวเสาร์อาจมีบริวารระดับกิโลเมตรที่รอคอยการค้นพบอีกมาก

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
: สมาคมดาราศาสตร์ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น