xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งเฉียดโลกแค่ 3,600 กม. ระยะใกล้กว่าดาวเทียมหลายดวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากนาซา
ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งขนาดเท่ารถบรรทุก จะพุ่งเฉียดโลกในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ขณะที่มันจะเป็นหนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากการเปิดเผยของนาซา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ แห่งนี้เน้นย้ำว่ามันไม่เสี่ยงก่ออันตรายใดๆ แก่โลกมนุษย์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่าดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ซึ่งเพิ่งถูกตรวจพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นรายหนึ่งเมื่อไม่นานที่ผ่านมา จะพุ่งผ่านแหลมทางใต้ของอเมริกาใต้ ตอน 16.27 น. ตามเวลามาตรฐานแปซิฟิก (PST) ของวันพฤหัสบดี (ตรงกับเมืองไทย 07.27 น.ของวันศุกร์)

มันจะพุ่งผ่านห่างพื้นผิวโลกแค่ราวๆ 3,600 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ใกล้กว่าดาวเทียมวงโคจรประจำที่หลายดวงที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก

อย่างไรก็ตาม นาซาระบุในถ้อยแถลงในวันพุธ (25 ม.ค.) เน้นย้ำว่าไม่มีความเสี่ยงที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลก แต่ถ้าพุ่งชนโลกจริง ดาวเคราะห์ดวงนี้ซึ่งมีขนาดราว 3.5 เมตร ถึง 8.5 เมตร จะถูกเผาไหม้แตกสลายเกือบหมดในชั้นบรรยากาศโลก เป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นอุกกาบาตชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกส่องพบโดย เกนนาดี โบรีซอฟ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นของหอดูดาวแห่งหนึ่งในไครเมีย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตรวจพบวัตถุระหว่างดวงดาวหนึ่งในปี 2019 จากนั้นได้ส่งรายงานการสังเกตการณ์เพิ่มเติมไปยังหอดูดาวทั่วโลกเพื่อวัดตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย และคำนวณวงโคจรและวิถีของ 2023 BU ออกมา

ระบบสเกาต์ (Scout) ของนาซา ซึ่งเป็นระบบประเมินผลกระทบที่เป็นอันตราย ได้ทำการสรุปอย่างรวดเร็วว่าดาวเคราะห์น้อย 2023 BU จะไม่พุ่งชนโลก จากการเปิดเผยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ

"แม้เฝ้าสังเกตได้ไม่มากนัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สามารถพยากรณ์ได้ว่าดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งเฉียดโลกในระยะที่ใกล้มาก" จากความเห็นของ เดวิด ฟาร์น็อคเชีย เจ้าหน้าที่ของนาซา ผู้ช่วยพัฒนาระบบสเกาต์ "ข้อเท็จจริงคือ มันเป็นหนึ่งในวัตถุใกล้โลกที่เข้ามาใกล้โลกที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา"

นาซายังประเมินด้วยว่าวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2023 BU จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากเดิมที่จะใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 359 วัน แต่หลังจากพุ่งเฉียดใกล้โลกแล้ว มันจะใช้เวลา 425 วันในการโคจรรอบดวงอาทิตย์

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น