ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเปิดนโยบายทิศทางการบริหาร “สวทช. ยุค 6.0” โดยตั้งเป้าขับเคลื่อน สวทช. เป็นดั่ง “ขุมพลังหลักด้านการวิจัย” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรพัฒนา “ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม” ให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้งานจริง ตอบโจทย์สำคัญของชาติ สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมหมู่มาก นำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีบุคลากรที่เป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกมากกว่า 700 คน ถือว่ามากที่สุดในประเทศ และมีความเชี่ยวชาญครอบคลุม 5 สาขาวิจัยหลัก ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ 1) วิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี 2) เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม 3) เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ 4) นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี และ 5) เทคโนโลยีพลังงาน
“นอกจากในด้านกำลังคน สวทช. ยังมีเครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีระดับสูงทั้งในด้านการวิจัยและคุณภาพ รวมถึงเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่พร้อมรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และพร้อมเป็นฐานสู่การสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
ปรับกระบวนทัพสร้าง ‘ขุมพลังหลักด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ’สำหรับทิศทางการบริหาร สวทช. ยุค 6.0 ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า ได้ปรับวิสัยทัศน์องค์กรครั้งใหม่ โดยมุ่งเป้าขับเคลื่อน สวทช. เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐและเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร คือ การจัดกระบวนทัพนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญที่บ่มเพาะมานานกว่า 30 ปี มาสร้างกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง ซึ่งหากทำได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ช่วยให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์และเห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง
“สวทช. มุ่งมั่นสร้างผลงานด้าน วทน. ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” คือ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในการพัฒนา เน้นดำเนินงานการพัฒนาภายใต้ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Strategy)”
สร้างกลยุทธ์ NSTDA Core Business นำพลังวิจัย รับใช้สังคม
ด้วยปัญหาคอขวดที่งานวิจัยของประเทศไทยจำนวนมากยังไม่สามารถผลักดันไปสู่การใช้จริงในภาคส่วนต่างๆ ได้ สวทช. ยุค 6.0 ภายใต้การบริหารของ ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ในวาระแรกนี้ ได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า “NSTDA Core Business” โดยในเฟสแรกได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมี 4 เรื่องหลัก คือ Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service และ Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า NSTDA Core Business คือการระดมความเชี่ยวชาญของบุคลากรจำนวนมากจากหลายส่วนงานมาขับเคลื่อนและผลักดันสมรรถนะหลักขององค์กร ให้นํามาสู่การใช้ประโยชน์จริงผ่านเครือข่ายพันธมิตร และสร้างผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีในด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากแต่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในภาคส่วนต่างๆ ได้มากเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ สวทช. เล็งเห็นความสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้งานในสังคมได้มากขึ้น
“Traffy Fondue คือแพลตฟอร์มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองในระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันรับแจ้งปัญหาแล้วมากกว่า 260,000 เรื่อง ช่วยลดเวลารับแจ้งปัญหาถึง 15 ล้านนาที มีการขยายผลการใช้งานไป 8,544 หน่วยงาน ใน 50 จังหวัด โดยมี 8 จังหวัด ที่ใช้งานทุกส่วนราชการ (นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น พะเยา ลำพูน ปราจีนบุรี ภูเก็ต และเพชรบูรณ์) ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการบริการสาธารณสุข ด้วยแพลตฟอร์ม A-MED Telehealth แพลตฟอร์มหลังบ้าน เพื่อช่วยให้บุคลากรทางแพทย์สามารถทำงานบนข้อมูลเดียวกัน ในการตรวจ รักษา และติดตามผู้ป่วย ในระบบ Home Isolation ในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อการเบิกจ่ายผ่านระบบสาธารณสุขหลักของประเทศ ปัจจุบันมีผู้ป่วยใช้งานสะสมมากกว่า 1,360,000 คน สถานพยาบาล 1,400 แห่ง รวมถึงแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพมากกว่า 16,000 คน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมการแพทย์ และสํานักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ขยายผลสู่ระบบ A-MED Home Ward ระบบบริการดูแลผู้ป่วยใน ที่บ้าน และร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม ขยายผลสู่ระบบ A-MED Care ระบบการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ (Common Illness) แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถรับยาฟรีที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน”
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวด้วยว่า ด้วยประสบการณ์การศึกษาและทำวิจัยทั้งสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนในต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการบริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในองค์กรสำคัญระดับประเทศ พร้อมนำความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่มีมารับใช้ประเทศ โดยจะร่วมกับนักวิจัย สวทช.ขับเคลื่อนองค์กรอย่างเต็มกำลังความสามารถ และเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นพลังสำคัญใช้งานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภาคส่วน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศให้ฟื้นตัวหลังจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ให้เร็วที่สุด
“สวทช. พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบให้กับประเทศ โดยนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ และเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยจะส่งเสริม ผลักดัน และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน หน่วยวิจัย และภาคประชาสังคมเพื่อร่วมกันยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาสาธารณะที่สำคัญ ด้วยการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม
ในระยะแรกจะมุ่งเน้นภาคเอกชนที่มีความพร้อมจะพัฒนาด้วยการวิจัย และหน่วยงานในพื้นที่ เช่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมาใช้งานอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งพร้อมสนับสนุนและร่วมมือให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อม สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน EECi และสร้างผลงานวิจัยออกสู่ตลาดร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม” ผอ. สวทช. กล่าวทิ้งท้าย