ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ “ดาวอังคาร” ดาวเคราะห์บริวารลำดับที่ 4 ของดวงอาทิตย์ จะมีการโคจรอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 1 ธันวาคม โดยมีระยะห่างจากโลกประมาณ 81.5 ล้านกิโลเมตร และยัง โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ทำให้บนท้องฟ้าในยามค่ำคืนในช่วงนี้ จะปรากฏดาวสีส้มแดงสว่างเด่นชัดให้ได้ชมกัน
ในโอกาสนี้ Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จัก “ดาวอังคาร” ดาวเคราะห์สีแดงแห่งระบบสุริยะจักรวาล เพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงที่โคจรถัดจากโลกเรา
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์บริววารลำดับที่ 4 ของดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์เล็กที่สุดอันดับที่ 2 ในระบบสุริยะรองจากดาวพุธ ในชื่อภาษาอังกฤษ “Mars” ได้ชื่อตามเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมัน มักได้รับขนานนาม "ดาวแดง" เพราะมีออกไซด์ของเหล็กบนพื้นผิวทำให้ดวงดาวมีสีออกแดง ทำให้เมื่อมองจากบนโลกในช่วงกลางคืน จะเห็นดาวอังคารเป็นดวงดาวสีแดง และยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลกโดยง่ายซึ่งจะปรากฏให้เห็นเป็นสีออกแดง มีความส่องสว่างปรากฏได้ถึง −2.91 ซึ่งเป็นรองเพียงดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์
วงโคจรของดาวอังคารมีระยะหางเฉลี่ย 230 ล้านกิโลเมตรโดยประมาณ (1.5 หน่วยดาราศาสตร์) และมีคาบการโคจรเท่ากับ 687 วันของโลก หนึ่งวันสุริยะบนดาวอังคารยาวกว่าหนึ่งวันของโลกเพียงเล็กน้อยคือเท่ากับ 24 ชั่วโมง 39 นาที 35.244 วินาที หนึ่งปีของดาวอังคารเท่ากับ 1.8809 ปีของโลก หรือ 1 ปี 320 วัน กับอีก 18.2 ชั่วโมง และเนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี และอยู่ใกล้โลกมาก เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์วงนอก ดวงอื่นๆ จะมีตำแหน่งการโคจรเข้าใกล้โลกในทุกๆ 2 ปี 2 เดือน และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุกๆ 15 - 17 ปี
ดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้มีความเอียงของแกนเท่ากับ 25.19 องศา สัมพัทธ์กับระนาบการโคจรซึ่งคล้ายคลึงกับความเอียงของแกนโลก เป็นผลให้ดาวอังคารมีฤดูกาลคล้ายโลกแม้ว่าแต่ละฤดูบนดาวอังคารจะยาวเกือบสองเท่าเพราะคาบการโคจรที่ยาวนานกว่า ณ ปัจจุบัน ขั้วเหนือของดาวอังคารมีการวางตัวชี้ไปใกล้กับดาวฤกษ์เดเนบ ดาวอังคารผ่านจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเดือนมกราคม 2013 จุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดถัดไปคือมกราคม 2014 และจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดถัดไปคือธันวาคมปีเดียวกัน
นอกจากจะมีลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายกับโลกแล้ว ดาวอังคารก็ยังมีดวงจันทร์บริวารเหมือนกับโลกด้วยเช่นกัน คือ "โฟบอส" และ "ดีมอส" แต่มีขนาดเล็กและมีรูปร่างบิดเบี้ยว ซึ่งมีการสำรวจว่าดวงจันทร์ทั้งคู่อาจเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกจับไว้ด้วยแรงดึงดูดของดาวอังคาร
ด้วยความที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงและอยู่ใกล้โลก ดาวอังคารจึงเป็นหนึ่งในดวงดาวที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตนอกโลกมากที่สุด ล่าสุด เป็นผลงานของ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ได้เผยผลการศึกษาหินอุกกาบาตที่มาจากดาวอังคารชี้ว่า ดาวเคราะห์สีแดงในยุคเริ่มก่อตัว 4,500 ล้านปีก่อน เต็มไปด้วยสารอินทรีย์และน้ำที่สามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตแรกของระบบสุริยะได้ ในขณะที่เวลาเดียวกันโลกยังคงมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต