คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างหอประวัติจุฬาฯ บนโลกเสมือนจริงสามมิติขึ้น เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยได้ ผ่านอุปกรณ์วีอาร์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาสถานที่จริง อีกทั้งต่อยอดความรู้ในการสร้างโลกเสมือนจริงที่ช่วยในการดำเนินกิจการในภาครัฐวิสาหกิจ และด้านสุขภาพในยุคเมตาเวิร์ส
รองศาสตราจารย์ ดร. ลัญฉกร วุฒิสิทธิกุลกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสร้างโลกเสมือนจริงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับสถาบันไทยศึกษา จัดสร้างหอประวัติจุฬาฯ บนโลกเสมือนจริงสามมิติขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อดำรงคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบเมตาเวิร์ส ขนาดเล็กแห่งแรกๆ ของประเทศที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้มีการต่อยอดนำความรู้ในการสร้างโลกเสมือนจริงช่วยในการดำเนินกิจการในภาครัฐวิสาหกิจ ด้วยการพัฒนาระบบฝาแฝดดิจิทัลของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ เขื่อนท่าทุ่งนา ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรในเขื่อนตามนโยบายเข้าพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลของหน่วยงาน ในโครงการนี้ได้สร้างแบบจำลองสามมิติของโรงไฟฟ้าครบถ้วนทั้งพื้นที่ภายในและอาคารภายนอก รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีในโรงไฟฟ้าทั้งหมด ผลลัพธ์ของโครงงานเป็นประโยชน์เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดูแลโรงไฟฟ้า สามารถใช้ในการฝึกฝนบุคลากรให้มีทักษะในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังใช้สำหรับให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวิศวกรรมเขื่อนและการผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเขื่อน โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สในภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ ในมิติของสุขภาพในยุคเมตาเวิร์ส คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ดูแลสภาวะสมองเสื่อม (Dementia Day Center) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้บูรณาการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) มาประยุกต์ใช้กับงานด้านการแพทย์ ด้วยการสร้างเกมส์ในโลกเสมือนจริงสำหรับบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยให้สามารถชะลอการดำเนินของโรคภาวะการรู้คิดถดถอยที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต โดยในเกมส์ได้มีการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าผู้เล่นอยู่ในแปลงผักทำหน้าที่เก็บพืช ผัก และผลไม้ตามคำเป้าหมายที่เกมส์กำหนด ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการรู้คิดด้านความจำ (Memory) ให้กับผู้เล่นและทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดการรู้คิดซึ่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของการฝึกการรู้คิดในรูปแบบของคะแนนที่ผู้เล่นได้รับ ทั้งนี้จะได้มีการทดลองทดสอบกับอาสาสมัครภายใต้ความ ร่วมมือและดูแลอย่างใกล้ชิดของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในปัจจุบัน การสร้างเมตาเวิร์สเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มีได้หลากหลายมิติ มีทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สขนาดใหญ่ เช่น The Sandbox ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หรือจะเป็นเมตาเวิร์สที่มีขนาดเล็กๆ ขององค์กรหรือหน่วยงาน เช่น Chula-Metaverse เป็นที่ทราบดีว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สจำเป็นต้องใช้การลงทุนมหาศาลและมีบุคลากรเฉพาะทางที่มีคุณภาพสูงจำนวนมาก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาระบบเมตาเวิร์สเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ จึงริเริ่มให้มีการโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ครอบคลุมองค์ความรู้หลากหลายมิติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางที่มีคุณภาพสามารถสร้างและทำงานในเชิงปฏิบัติได้ทันความต้องการ หนึ่งในรายวิชาที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้ ที่เป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับผู้สนใจแต่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเมตาเวิร์สให้มีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน และพร้อมต่อยอดไปสู่การสร้างเมตาเวิร์สที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนเองได้ โดยการฝึกหัดลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกับตัวอย่างเกมสามมิติ การสร้างอวาตาร์ การทำแอนิเมชัน การทำสคริปท์เพื่อควบคุมและการโต้ตอบ นอกจากนี้ยังจะได้เรียนรู้การสร้างเมตาเวิร์สขนาดจิ๋วที่มีผู้เล่นหลายรายได้ รวมถึงสามารถพูดคุยผ่านวิดีโอกับเพื่อน