ความจริงเมื่อครั้งที่ Martin Luther ยืนแถลงต่อศาลศาสนาเมื่อปี 1521 ว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอถอนคำพูดใดๆ ของข้าพเจ้า เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ขัดกับความสำนึกคิดที่ถูกต้องของข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดช่วยคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย” คนทุกคนเมื่อได้ยินคำแถลงนี้ก็รู้ในทันทีว่า เสรีภาพและวิถีชีวิตของ Luther ได้ถูกศาลศาสนากำหนดขอบเขตและเส้นตายให้แล้ว
กระนั้นทุกคนในสังคมทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่า Luther มีจิตใจกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวยิ่งกว่า Galileo Galilei เสียอีกเพราะเมื่อ Galileo ต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลศาสนา เพราะถูกกล่าวหาว่า เที่ยวสั่งสอนให้ผู้คนเชื่อว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ (ในเวลานั้นคนทั้งโลกเชื่อว่าโลกอยู่นิ่ง และดาวอื่น ๆ ทุกดวงโคจรไปรอบโลก) ครั้นเมื่อศาลศาสนาได้ประกาศข่มขู่ Galileo ว่า ถ้าไม่ยอมถอนคำสอนดังกล่าวนั้น เขาก็จะถูกทรมานอย่างทารุณ เมื่อถูกบูลลี่ว่าจะถูกลงโทษหนัก Galileo จึงประกาศถอนคำพูด แต่ขณะเดินออกจากศาล เขาได้พึมพำออกมาอย่างเบาๆ ว่า “โลกก็ยังเคลื่อนที่อยู่ดี”
นักประวัติศาสตร์หลายคนได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ท้าทายอำนาจของสถาบันศาสนาในเรื่องความเชื่อ โดย Martin Luther กับเหตุการณ์ท้าทายอำนาจของสถาบันศาสนาในเรื่องที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ของ Galileo Galilei ว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้ทางความคิดของคนทั้งสองในเวลาไล่เลี่ยกันได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของสังคม จนทำให้เกิดยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) ใช่หรือไม่
เพราะในเวลานั้น ชาวยุโรปทุกคนมักเชื่ออย่างงมงายในคำสอนวิทยาศาสตร์ทุกเรื่องที่ปราชญ์กรีก Aristotle และ Ptolemy ได้เคยแถลงไว้ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่าพันปี จนกระทั่ง Nicolaus Copernicus ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้เสนอความเห็นในหนังสือ “On the Revolutions of the Celestial Spheres” เมื่อปี 1543 ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของเอกภพ และโลกเป็นเพียงดาวเคราะห์บริวารดวงหนึ่งที่โคจรไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์เท่านั้นเอง การเขียนเช่นนี้ได้ทำให้หนังสือของ Copernicus เล่มดังกล่าว กลายเป็นหนังสือต้องห้าม (คือ ห้ามซื้อ ห้ามขาย ห้ามพูดถึง และห้ามเผยแพร่) เพราะสถาบันศาสนาถือว่า ข้อความทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ขัดต่อทุกคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล
ต่อมาในปี 1609 นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Johannes Kepler ซึ่งได้รับฉายาว่า Luther ของวงการดาราศาสตร์ก็ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “New Astronomy” ซึ่งได้แถลงกฎ 3 ข้อ ที่บรรยายลักษณะการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์ โดยได้พบกฎเหล่านี้จากการศึกษาผลงานของ Tycho Brahe ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ที่ได้วิเคราะห์การเคลื่อนที่ของดาวอังคารอย่างละเอียด ตั้งแต่ปี 1588 และความรู้ทางดาราศาสตร์ที่พบใหม่เหล่านี้ทุกเรื่องล้วนขัดแย้งกับความเชื่อที่ผู้คนได้มีมาเป็นเวลานานแล้วทั้งสิ้น
จนกระทั่งถึงยุคของ Galileo คือในปี 1610 หลังจากที่เขาได้ทดลองพบว่า ของที่หนักและของที่เบา จะตกถึงพื้น โดยใช้เวลาเท่ากันเสมอ ไม่ว่าจะปล่อยให้ตก ณ เวลาใด หรือ ณ สถานที่ใด ถ้ามีการปล่อยให้วัตถุทั้งสองตกจากที่สูงระดับเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการทดลองนี้ได้ล้มล้างความเชื่อและคำสอนของ Aristotle อย่างสิ้นเชิง เพราะ Aristotle ได้แถลงว่า ของที่หนัก จะตกถึงพื้นเร็วกว่าของที่เบาเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น Galileo ก็ยังได้พบอีกว่า บนดวงจันทร์มีทั้งภูเขาและหุบเหว ดังนั้นผิวของดวงจันทร์จึงไม่ราบเรียบ ความรู้นี้จึงขัดแย้งกับคำสอนที่ปรากฏในไบเบิลอีก เพราะคัมภีร์สอนว่า ดวงจันทร์มีผิวกลมดิก เหมือนผิวลูกบิลเลียด ด้วยเหตุผลว่าสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างจะสมบูรณ์สวย อย่างไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง Galileo จึงถูกศาลศาสนาสอบสวนอีก และถูกบังคับให้ถอนคำพูด
ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้ทำให้บรรดานักวิชาการเริ่มมีความคิดว่า วิธีการแสวงหาความรู้ที่ดีที่สุด มิได้มาจากการอ่านตำราโบราณหรือจากคัมภีร์ไบเบิล แต่สามารถหาได้จากประสบการณ์ทดลองโดยตรงด้วยตนเองหรือบุคคลอื่น ดังแพทย์ชาวเบลเยียมชื่อ Andreas Vesalius ได้เริ่มผ่าศพ ที่เมือง Padua ในประเทศอิตาลี และการทำเช่นนี้ได้ขัดคำสั่งของสถาบันศาสนาที่ห้ามไม่ให้แพทย์ผ่าศพ แต่การผ่าศพได้ทำให้ Vesalius ได้พบองค์ความรู้ใหม่มากมายที่ขัดต่อคำสอนของแพทย์กรีกโบราณชื่อ Galen อีกเช่นกัน และที่เมือง Naples ในปี 1550 ก็มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อ
Giambattista della Porta ซึ่งได้ทดลองใช้เลนส์รับแสงอาทิตย์ในการทำให้เกิดภาพบนจอ ผลงานนี้ได้ปูทางให้ Galileo สามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์ เพื่อใช้ศึกษาเอกภพในเวลาต่อมา (เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเวลานั้นมีนักบวชและบาทหลวงหลายคนที่สนใจการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ เพราะต้องการจะใช้ดูเหตุการณ์บนสวรรค์) ด้าน Blaise Pascal ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็ได้พบกฎความดันของของไหลว่า ขึ้นกับความหนาแน่นของของเหลวนั้นและระดับลึก ในปี 1648 และนักเคมีชาวอังกฤษชื่อ Robert Boyle ซึ่งเป็นผู้พบกฎที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความดันกับปริมาตรของแก๊สอุดมคติ เมื่อปี 1660 ซึ่งกฎได้แถลงว่า ถ้าอุณหภูมิของแก๊สไม่เปลี่ยนแปลง ผลคูณระหว่างความดันกับปริมาตรของแก๊สจะมีค่าคงตัวเสมอ ต่อมาในปี 1687 Isaac Newton ได้พบกฎแรงโน้มถ่วงและได้แถลงกฎการเคลื่อนที่ของมวล ซึ่งผลงานทั้งหลายนี้ ได้ชี้ให้ทุกคนเห็นว่า ในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาธรรมชาตินั้น นอกจากจะต้องมีผลการทดลองมาพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังต้องใช้คณิตศาสตร์เพื่อให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย
คำถามหนึ่งที่ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนสนใจจะรู้คำตอบ คือ การปฏิรูปศาสนากับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างจงใจ นั่นคือการตั้งคำถามว่า ถ้าโลกนี้ไม่มี Martin Luther แล้ววิทยาศาสตร์ยุคใหม่จะยังสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่
ในการตอบคำถามนี้ บันทึกประวัติวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า Copernicus ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิกจากเมือง Frombok ในประเทศโปแลนด์ ได้ปฏิเสธที่จะเชื่อในคำสอนของ Ptolemy ที่เขียนไว้ใน Almagest ตั้งแต่เมื่อ 1,300 ปีก่อน ให้คริสต์ศาสนิกชนทุกคนเชื่อตาม ถึงกระนั้นสถาบันศาสนาก็มิได้ออกมาประกาศประณาม Copernicus อย่างรุนแรง เพียงสั่งห้ามไม่ให้สอน คงเพราะ Copernicus ได้เขียนคำนิยมอุทิศแด่องค์สันตะปาปา Paul ที่ 3 ในหนังสือที่เขาเรียบเรียง เขาจึงรอดพ้นจากการถูกลงทัณฑ์
แต่เมื่อ Galileo เขียนหนังสือเรื่อง “Dialogue Concerning the Two Chief World Systems” เมื่อปี 1632 และเนื้อหาที่เขียนได้ล้อเลียนสันตะปาปา Urban ที่ 8 เขาก็ถูกสถาบันศาสนาและสังคมอิตาลีบูลลี่ในทันที ทั้ง ๆ ที่ Galileo ก็เป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกคนหนึ่ง แม้แต่ Martin Luther เองก็มิเคยศรัทธาในคำสอนวิทยาศาสตร์ของ Copernicus มาก เพราะเคยกล่าวหา Copernicus ว่า มุ่งจะทำลายวิชาดาราศาสตร์ และได้กล่าวว่าการที่ Copernicus ปฏิเสธความเชื่อในผลงานสร้างเอกภพของพระเจ้านั้น ก็เพราะเขาเสียสติและมีจิตใจที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความคิดของซาตาน ด้านชาวคริสต์นิกาย Protestant เช่น Tycho Brahe ซึ่งเคยทำนายการเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปี 1560 ขณะมีอายุเพียง 14 ปี ก็ได้เห็นดาว supernova ระเบิดอย่างสว่างไสวในหมู่ดาว Cassiopeia เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1572 ซึ่งการเห็นในครั้งนั้น ได้ทำลายความเชื่อและความคิดของ Aristotle ที่แถลงว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ บนสวรรค์ จะอยู่ในสมดุล และดาวจะไม่มีการระเบิดใดๆ เลย ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ทั้ง Brahe และ Kepler ต่างก็เคยทำงานถวายองค์สันตะปาปา แม้จะมีความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างและตรงข้ามกับองค์สันตะปาปาก็ตาม
สำหรับ พระเจ้า Louis ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสนั้น พระองค์ทรงเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก แต่ทรงเนรเทศชาวคริสต์นิกาย Protestant หลายคนออกจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1685 ก็ทรงเคยจ้าง Christiaan Huygens ซึ่งเป็นชาว Protestant ให้มาทำงานถวายที่สถาบัน Academy of Sciences ในกรุงปารีส ดังนั้น แม้นักวิทยาศาสตร์หลายคนจะถูกกดดันจากสถาบันศาสนามากสักปานใด บางคนได้พยายามหลบหนี และหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้าทางความคิดกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างตรง ๆ เพื่อให้วิทยาศาสตร์ที่ตนศรัทธาได้เติบโต ดัง René Descartes ซึ่งเป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อได้เห็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับ Galileo ก็ได้ตัดสินใจหลบหนีออกจากประเทศฝรั่งเศสไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศ Netherlands ก่อนจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องสสาร ซึ่งก็มีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับเรื่องเล่าที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับพิธีศีลมหาสนิท (communion) ว่า พระเยซูทรงเปลี่ยนพระโลหิตในพระองค์เป็นเหล้าองุ่นให้สานุศิษย์ได้ดื่ม
แต่การต่อต้านวิทยาศาสตร์มิให้เติบโตก็มิได้มาจากชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพทย์และนักทำแผนที่ชาวสเปน ชื่อ Michael Servetus ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้ศึกษาวงจรการไหลของเลือดในร่างกายของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้พบว่าวงจรนี้ประกอบด้วยหัวใจ ปอด และเส้นโลหิต แต่ในที่สุดก็ถูกศาลศาสนาฝ่ายโรมันคาทอลิกจับขังในประเทศฝรั่งเศส เพราะ Servetus ได้สอนสิ่งที่ขัดต่อคำสอนทางคริสต์ศาสนาที่ว่า สมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการไหลของโลหิตในร่างกาย ดังนั้นจึงได้หลบหนีไปอยู่ที่กรุง Geneva ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ถูกชาวคริสต์นิกาย Calvinism จับตัวไปเผาทั้งเป็น เพราะได้ไปเถียงเรื่องความเชื่อทางศาสนากับพวก Calvinist อีก
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงได้แสดงให้เห็นว่า การถือกำเนิดของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานที่ทุกหนทุกแห่งในยุโรป โดยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลว่านับถือศาสนานิกายใด นี่จึงเป็นการยืนยันว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ได้บังเกิดขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องมี Martin Luther มาชี้นำ
การวิเคราะห์ต้นกำเนิดของยุค Renaissance หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่อุบัติเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในประเทศอิตาลี ได้แสดงให้เห็นว่า ยุคนี้เริ่มดำเนินไปอย่างจริงจัง เมื่อผู้คนจำนวนมากได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ทั้งวรรณกรรม ปรัชญา ศิลปะ และวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง เวลาต้องการจะค้นหาความรู้ใหม่ ๆ และความจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เมื่อได้เกิดการประดิษฐ์เทคโนโลยีการพิมพ์ โดย Johannes Gutenberg แห่งเมือง Mainz ในประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1453 เพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ได้ทำให้สังคมยุโรปในเวลานั้นสามารถรับข่าวสารที่หลากหลาย และเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัย ถูกต้อง และชวนคิดได้อย่างรวดเร็ว มีผลทำให้การตรวจสอบความถูกต้องจึงเป็นไปได้อย่างทันการ และเมื่อฝูงชนจำนวนมากได้รับความรู้และเรื่องราวใหม่ ๆ มากมายก็ทำให้มีความคิดใหม่ ๆ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์จึงเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพราะแทนที่นักวิชาการจะหาความรู้จากคัมภีร์ไบเบิล ก็ได้หันมาหาความรู้จากหนังสือในห้องสมุด และจากเอกสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของความรู้เหล่านั้นได้หมดโดยการทดลอง
ดังนั้นการปฏิรูปศาสนาจึงมิได้เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เกิดวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เพราะสาเหตุที่สำคัญกว่าและมากที่สุด คือ การมีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ได้ช่วยให้ประชากรโลกได้รู้ความจริงและข่าวจริง สำหรับใช้ท้าทายและล้มล้างความรู้เก่าๆ เหมือนดังที่ Google , Facebook , Podcast , Twitter และ YouTube ฯลฯ กำลังทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาโลกของความรู้ในทุกวันนี้ Gutenberg จึงนับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกที่ได้ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญขึ้น
ความจริงโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีวีรบุรุษและวีรสตรีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Joan of Arc ซึ่งเป็นเด็กหญิงชาวนาวัย 17 ปี ผู้ได้ถวายตัวรับใช้พระเจ้า Charles แห่งฝรั่งเศสในการรวบรวมทหารฝรั่งเศสขึ้นเป็นกองทัพ เพื่อขับไล่ทหารอังกฤษที่กำลังยึดครองเมือง Orléans อยู่ ความกล้าหาญของเธอได้กระตุ้นเร้าทหารชายในกองทัพร่วม 10,000 คน ให้บุกเข้าโจมตีกองทัพอังกฤษจนได้รับชัยชนะ แต่เธอก็ถูกทหารอังกฤษจับตัวไปเผาทั้งเป็น ด้วยข้อกล่าวหาว่า เธอเป็นแม่มด วีรกรรมความกล้าหาญของเธอ ได้ปลุกใจทหารฝรั่งเศสให้สู้รบ จนทำให้ฝรั่งเศสได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1453 บุคคลผู้มีชื่อเสียงอีกสองคนในยุคนั้น คือ Sultan Mehmed ที่ 2 ผู้ทรงพิชิตเมือง Constantinople ได้ และทรงสถาปนาอาณาจักร Byzantine ขึ้นมา กับนักเดินเรือชาวอิตาเลียนผู้มีนามว่า Christopher Columbus ซึ่งได้ “พบ” ทวีปอเมริกา แต่ถ้าจะให้เลือกคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 15 คนส่วนมากก็จะเลือก Johannes Gutenberg ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ได้เปลี่ยนโลก จนทำให้โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคการสื่อสาร และเป็นโลกวิทยาศาสตร์มาจนทุกวันนี้
ในเวลานั้นธุรกิจการพิมพ์เป็นงานที่ดำเนินอย่างค่อนข้างช้า และมีขั้นตอนมากมาย เพราะเวลาจะพิมพ์อะไรก็ตาม ช่างพิมพ์จะต้องแกะตัวอักษรจากท่อนไม้ออกมาก่อน แล้วนำอักษรเหล่านั้นมาวางเรียงกันเป็นประโยค ๆ จากนั้นก็ใช้สีทาที่ตัวอักษร แล้วนำแผ่นกระดาษมาทาบลงไป วิธีนี้จึงทำให้ได้หน้าพิมพ์ช้า และกว่าจะได้หนังสือหนึ่งเล่ม ซึ่งมีหลายหน้า จึงต้องใช้เวลานานมาก หนังสือจึงมีวางขายในปริมาณน้อยและมีราคาค่อนข้างแพง คนที่รู้หนังสือจึงมีจำนวนน้อยตามไปด้วย เพราะความรู้ไม่ได้แพร่กระจายในวงกว้าง เมื่อ Gutenberg คิดหาวิธีพิมพ์ใหม่ โดยใช้ตัวอักษรที่ทำด้วยโลหะ เช่น ตะกั่ว และเมื่อนำตัวอักษรที่ถาวรเหล่านี้มาเรียงเป็นคำ และเป็นประโยค แล้วชโลมด้วยหมึก จากนั้นก็เอาแผ่นกระดาษมาประกบ เมื่อดึงกระดาษออก ช่างพิมพ์ก็จะได้บทความหนึ่งหน้าในทันที กระบวนการนี้ทำให้ช่างพิมพ์สามารถพิมพ์บทความนั้นได้อีก โดยการทำซ้ำ แต่ปัญหาก็มี คือ การหล่อตัวอักษรให้สามารถใช้ได้อย่างถาวรจำเป็นต้องใช้โลหะผสม และต้องหาเครื่องมาอัดแผ่นกระดาษให้แนบแน่นกับตัวอักษร ในที่สุด Gutenberg ก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยใช้เครื่องบีบอัดผลองุ่นที่ใช้ในการทำเหล้าองุ่น และได้ชวน Johann Fust ซึ่งเป็นช่างทองและเป็นนักกฎหมายมาร่วมสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจการพิมพ์หนังสือด้วย
ลุถึงปี 1455 ในงานแสดงสินค้าที่เมือง Frankfurt ในประเทศเยอรมนี ผู้เข้าชมงานได้เห็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนเป็นภาษาละตินวางแสดงในงาน โดยแต่ละหน้าในคัมภีร์มี 2 คอลัมน์ และแต่ละคอลัมน์มีคำเขียน 42 บรรทัด อีกหนึ่งปีต่อมาหนังสือไบเบิลฉบับเต็มก็ได้ปรากฏในบรรณโลก แต่ไม่มีชื่อผู้เขียน ในที่สุดทุกคนก็รู้จักหนังสือเล่มแรกของโลกว่า คือ คัมภีร์ไบเบิลของกูเทินแบร์ค
เทคโนโลยีนี้จึงได้เปิดโลกทัศน์ให้แก่ทุกคน เพราะหลังจากนั้นคัมภีร์ไบเบิลทุกเล่มก็ได้รับการตีพิมพ์ โดยเครื่องจักรกลแทนการคัดลอกด้วยลายมือ แล้วโลกแห่งการสื่อสารก็ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อถึงปี 1500 ก็ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือจำนวนมากกว่า 30,000 เรื่อง ทั้งที่เป็นผลงานของนักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกและชาวโรมัน และหนังสือทั้งหลายนี้ได้ฟื้นฟูความรู้ต่างๆ ในอดีตให้แก่ผู้อ่านทุกคนได้รู้ ได้คิด และวิเคราะห์ จนนำไปสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในที่สุด
จากในอดีต ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ คนที่อ่านหนังสือออกและรู้หนังสือมักเป็นคนที่มีฐานะดีในสังคมกับคนที่เป็นอาลักษณ์ ซึ่งมีหน้าที่คัดลอกข้อความเท่านั้น แต่เมื่อมีเทคโนโลยีการพิมพ์ หนังสือก็มีราคาถูกลง ทำให้คนทุกระดับสามารถหามาอ่านได้ง่าย ดังนั้นสังคมจึงเกิดการตื่นรู้อย่างกว้างขวาง จนมีผลทำให้ช่องว่างของความรู้และความคิดระหว่างบุคคลในสังคมเริ่มแคบลงๆ จนหมดสิ้นไปในที่สุด การอ่านหนังสือซึ่งเป็นการต่อยอดทางสติปัญญาของมนุษย์จึงเกิดขึ้น โดยสิ่งประดิษฐ์ของ Gutenberg ผู้เป็นช่างพิมพ์ชาวเยอรมันซึ่งต้องการจะให้ธุรกิจการขายหนังสือของเขาเดินหน้าได้จำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้นเอง แล้วความต้องการนี้ก็ได้ทำให้ชาวโลกก้าวเข้าสู่ความเท่าเทียมกันในด้านการเรียนรู้ในอีก 500 ปีต่อมา และคงจะตลอดไปด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้ายิ่งกว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ของ Gutenberg มาก เช่น internet , podcast , World Wide Web ตลอดจนถึง quantum internet ในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมจาก “Science and the Reformation” โดย David Wootton ใน Nature ฉบับที่ 550 วันที่ 26 ตุลาคม ปี 2017
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์